มองปัญหาให้เป็นโอกาส

โดย: จป อาคม [IP: 61.91.85.xxx]
เมื่อ: 2015-06-04 12:49:58
าผมบอกว่าให้เราลองเขียน “ปัญหา” ที่เราพบในการทำงานมีอะไรบ้าง เขียนออกมาให้หมด ไม่ว่าปัญหาเล็กหรือปัญหาใหญ่... ผมเชื่อว่าเราแต่ละคนคงสามารถเขียนรายการปัญหาออกมาได้มากมายไม่ต่ำกว่า 10 ปัญหา ตั้งแต่ปัญหาเรื่องงาน งานเยอะ งานยาก งานด่วน ปัญหาการประสานงาน ปัญหาอุปกรณ์การทำงาน ปัญหากับเพื่อนร่วมงาน ปัญหากับหัวหน้างาน ปัญหากับลูกค้า ปัญหาสภาพแวดล้อมการทำงาน ฯลฯ การเขียนปัญหาเป็นเรื่องง่าย แต่ถ้าผมถามต่อไปว่า แล้วปัญหาเหล่านั้นเราได้แก้ไขหรือไม่? แก้ไปได้กี่เรื่องแล้ว?...หรือไม่ได้แก้ไขอะไรเลย นอกจาก “บ่น” อย่างเดียว!! ลองตอบตัวเองดู... ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่เห็นปัญหา ไม่ชอบปัญหา แต่ชอบบ่นต่อว่าเมื่อเกิดปัญหา แทนที่จะคิดแก้ปัญหานั้นให้ตกไปโดยเร็ว เป็นความจริงที่ว่า ไม่มีใครชอบปัญหา แต่เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ว แทนที่จะหาทางแก้ปัญหาโดยเร็ว ด้วยวิธีที่จะไม่ให้ปัญหาแบบเดิมเกิดขึ้นอีก หลายคนกลับปล่อยให้ปัญหาแช่อยู่อย่างนั้น โดยมีเหตุผลข้ออ้างต่าง ๆ นานา อาทิ ไม่ใช่หน้าที่ของเรา พูดไปก็ไม่มีใครฟัง ไม่ใช่ความรับผิดชอบของเรา แก้ไม่ได้หรอก...เป็นอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว... เมื่อเราไม่แก้ปัญหา...แม้ว่าปัญหานั้นเราไม่ได้ “ก่อ” ขึ้นมาก็ตาม แต่เราย่อมต้องรับ “ผล” ที่เกิดจากปัญหานั้น ไม่ว่าจะเป็นความหงุดหงิด ความเครียด และผลที่เกิดขึ้นอื่น ๆ ทางที่ดีกว่า ไม่ว่าเราเผชิญหน้ากับปัญหาใด หากเรามองปัญหาเป็นเหมือน “ขนมหวาน” เป็นเหมือน “โอกาส” ให้เราได้ค้นหาทางออก หรือทางเลือกใหม่ ๆ ที่ดีกว่าเดิมก็เป็นได้ ปัญหา คือ โอกาสค้นพบสิ่งใหม่ ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเป็นโอกาสที่ทำให้เราหาทางออก ด้วยการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และค้นพบทางแก้ปัญหาแบบใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การถือกำเนิดของน้ำยาลบคำผิด (ลิควิดเปเปอร์) เกิดจากการพยายามหาทางแก้ปัญหาของเลขานุการคนหนึ่ง ชื่อเบ็ต เนสสมิธ (Bette Nesmith Graham) เธอมักประสบปัญหาเวลาพิมพ์งาน เมื่อพิมพ์ผิดต้องลบด้วยยางลบดินสอ ซึ่งนอกจากทำให้งานล่าช้าแล้ว ยังทำให้งานพิมพ์ไม่เรียบร้อย ยิ่งต่อมามีเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าเธอเผชิญปัญหาหนักกว่าเก่า เพราะไม่สามารถใช้ยางลบดินสอลบคำผิดได้อีกต่อไป ทางแก้คือ ต้องพิมพ์ใหม่สถานเดียว เนสสมิธจึงหาทางแก้ปัญหา และค้นพบวิธีทำน้ำยาลบหมึกแบบง่าย ๆ โดยใช้สีน้ำสีขาว บรรจุลงในขวดน้ำยาทาเล็บ แล้วใช้พู่กันป้ายน้ำยาทับคำผิดบนกระดาษ ทำให้สามารถพิมพ์ซ้ำทับได้ วิธีนี้แก้ปัญหาได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ บรรดาเพื่อน ๆ ร่วมงานให้ความสนใจและขอน้ำยาลบหมึกของเธอมาใช้บ้าง เธอจึงคิดผลิตเพื่อจำหน่าย และนี่เป็นต้นกำเนิดของน้ำยาลบคำผิดที่รู้จักและนำไปใช้ทั่วโลก“ลิควิดเปเปอร์ (Liquid Paper)" หากเราให้ปัญหาเป็นโอกาสที่ทำให้เราค้นพบทางออกใหม่ ๆ ที่ดีกว่าเดิม แม้เราอาจไม่ได้คิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้เหมือนเลขานุการท่านนี้ แต่หากเรามุ่งแก้ไขทุก ๆ ปัญหาที่เข้ามา ผมเชื่อว่าทุกปัญหามีทางออก และทางออกนั้นจะช่วยให้เราทำงานอย่างมีความสุขมากขึ้น เพราะไม่ต้อง “แช่” อยู่กับปัญหา ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาใด ๆ เข้ามาก็ตาม สิ่งที่เราต้องทำ ได้แก่ ตั้งใจแก้ไข ‘ทุก’ ปัญหา เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ให้เรามุ่งแก้ไข ไม่ใช่แก้ตัว ไม่บ่น หรือโยนความผิดให้คนอื่น แต่ให้เวลาส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา โดยวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาว่าอยู่ที่ใด อาจใช้วิธีการตั้งคำถาม เมื่อพบปัญหาหรือความผิดพลาดเกิดขึ้น ด้วยคำถามว่า “ทำไม” ไปเรื่อย ๆ จนพบสาเหตุที่แท้จริง เพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงประเด็น คิดว่าแก้ได้ ก่อนแก้ไม่ได้ ในหลายครั้งเราคิดว่าปัญหานั้นแก้ไขไม่ได้ หรือคิดว่าเป็นแบบนี้มานานแล้ว ไม่มีใครแก้ไขได้ การคิดเช่นนี้เป็นเหมือนปิดประตูความคิด ทั้ง ๆ ที่ศักยภาพของสมองเรานั้นสามารถแก้ไขปัญหาที่เราคิดว่ายากหรือแก้ไม่ได้ แต่ให้เราคิดแง่บวก ยืดหยุ่นความคิดอย่าจำกัดด้วยประสบการณ์เดิม ต้องไม่ใช้ประสบการณ์เดิมเป็นตัวตัดสินเหตุการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้น แต่ให้พิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและคิดให้ยืดหยุ่นมากที่สุด เช่น หาทางเลือกที่หลากหลาย ทั้งทางเลือกที่ไม่เคยใช้มาก่อน ทางเลือกที่คิดว่าง่าย ทางเลือกที่เคยล้มเหลวมาแล้วในอดีต หรือวิธีการที่ยังไม่มีใครนำมาใช้ เป็นต้น ดร.จอห์น ซี. แม็กซ์เวลล์ กูรูทางด้านการพัฒนาคนและองค์กร เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงอย่างมากทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ได้เคยกล่าวไว้ว่า “ผมเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพ ขอเพียงแต่เชื่อมั่นตนเองก็จะสามารถบรรลุขีดสุดของศักยภาพนั้น ตามอย่างที่แต่ละคนถูกสร้างขึ้นมาได้ และนี่คือความคิดของผม ไม่ว่าจะพูดคุยกับใครก็ตาม ผมเชื่อว่าคนทุกคนที่ผมเจอได้คะแนนเต็ม 10 นั่นคือเหตุผลที่ผมเรียกว่ากฎคะแนนเต็ม 10” ถ้าเราเชื่อมั่นในศักยภาพของเรา ตั้งใจที่จะท้าทาย และมุ่งมั่นที่จะจัดการให้ปัญหานั้นออกไปจากชีวิตให้เร็วที่สุด ผมเชื่อว่าทุก ๆ ปัญหาเราสามารถฝ่าฟันออกไปได้อย่างแน่นอน ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 568,709