หากจะกล่าวถึงโรคภัยของคนวัยทำงานที่กำลังฮอตฮิตที่สุดในขณะนี้ ก็คงหนีไม่พ้น ‘โรคออฟฟิศซินโดรม’ ซึ่งนับวันมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจนน่าตกใจ แต่ถึงกระนั้น ใช่ว่าโรคๆ นี้จะเป็นแล้วไม่หาย เพราะการแพทย์สมัยใหม่ต่างมีการรักษาหลากหลายวิธี ให้ได้เลือกรักษาตัวตามความเหมาะสม อาทิเช่น การฝังเข็ม (Dry needing) การรับประทานยา การทำกายภาพบำบัด และอื่นๆ เพื่อป้องกันการกลายสภาพเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมชนิดเรื้อรังนั่นเอง

โดยในวันนี้เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับ ‘โรคออฟฟิศซินโดรม’ ว่าเกิดจากอะไร เป็นแล้วมีอาการผิดปกติอย่างไร และสามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีใดบ้าง เอาล่ะ ถ้าทุกคนพร้อมแล้ว ตามไปดูเรื่องราวของโรคสุดฮอตฮิตของคนวัยทำงานชนิดนี้กันได้เลย!

 โรคออฟฟิศซินโดรม คืออะไร?

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) จัดอยู่ในกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Myofascial Pain Syndrome) ซึ่งมักเกิดจากการที่ต้องใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำไปมา เป็นระยะเวลานานและต่อเนื่อง โดยผลของมันจะทำให้กล้ามเนื้อเกิดการอักเสบ ตลอดจนปวดเมื่อยตามอวัยวะส่วนอื่น ๆ ไล่ลงมาตั้งแต่คอ หลัง บ่า ไหล่ แขน หรือแม้กระทั่งบริเวณข้อมือก็ไม่เว้น ซึ่งหากผู้ที่พบว่ามีอาการของโรคออฟฟิศซินโดรม แต่ไม่ทำการรักษาตัวในทันทีที่พบ อาการอาจทรุดหนักลงและลุกลามจนผู้ป่วยมีอาการปวดชนิดเรื้อรังก็เป็นได้

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)

สาเหตุของการเกิดโรคออฟฟิศซินโดรม

โดยส่วนมากอาการปวดกล้ามเนื้อจากโรคออฟฟิศซินโดรม มักพบได้บ่อยในคนทำงานออฟฟิศเป็นหลัก นั่นเพราะพฤติกรรมการทำงานที่ต้องนั่นจดจ่ออยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานจนลืมตัว โดยแทบจะไม่มีการขยับตัวปรับเปลี่ยนอิริยาบถใด ๆ หรือลุกขึ้นเดินไปไหนมาไหนเลย ซึ่งนี่เป็นผลทำให้กล้ามเนื้อมัดต่าง ๆ เกิดอาการยึดเกร็งและอักเสบในเวลาต่อมา

อาการแบบไหนที่เข้าข่ายผู้ป่วยเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม

  • เกิดการปวดกล้ามเนื้อเฉพาะส่วน โดยคุณไม่สามารถระบุตำแหน่งได้อย่างชัดเจน ตรงบริเวณคอ บ่า ไหล่ และสะบัก
  • มีอาการปวดวิงเวียนศีรษะเรื้อรัง หรือในบางคนอาจมีอาการปวดหัวไมเกรนร่วมด้วย ซึ่งสาเหตุเกิดจากความเครียดและการใช้สายตาจดจ่อบนหน้าจอคอมพิวเตอร์มากเกินไปเป็นระยะเวลานาน
  • ปวดหลัง เนื่องจากต้องนั่งทำงานอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันนานหลายชั่วโมง อีกทั้งวิธีท่านั่งก็ไม่ถูกสรีระซะทีเดียว โดยผู้มีอาการมักนั่งหลังค่อม ซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อต้นคอเมื่อยล้าและยึดเกร็งอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังรวมไปถึงผู้หญิงที่ใส่ส้นสูงยืนทำงานในออฟฟิศเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้มีอาการปวดหลังจากโรคออฟฟิศซินโดรมได้เช่นเดียวกัน
  • มีอาการปวดหรือเกิดเหน็บชาบริเวณขาลงมา ซึ่งสาเหตุมาจากการนั่งในท่าเดิม ๆ เป็นเวลานาน จนทำให้เส้นเลือดดำถูกกดทับและการไหลเวียนของเลือดมีความผิดปกติ
  • ตาล้าพร่ามัว เนื่องจากการที่ต้องใช้สายตาจ้องมองหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
  • มีอาการมือชา นิ้วล็อค และปวดข้อมือ โดยสาเหตุมาจากการจับเมาส์ในท่าเดิม ๆ เป็นเวลานาน ส่งผลให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น หรือปลอกหุ้มเส้นเอ็นบริเวณมือหรือนิ้วมือ (De Quervain’s disease) อักเสบได้ นอกจากนี้ยังสามารถทำให้เกิดอาการมือชา จากภาวะพังผืดกดทับเส้นประสาทมีเดียนได้อีกด้วย (CTS / Carpal Tunnel Syndrome)

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)

แนวทางการรักษาโรคออฟฟิศซินโดรม

ในปัจจุบันการรักษาโรคออฟฟิศซินโดรมสามารถกระทำได้หลากหลายวิธี โดยเริ่มจากวิธีที่ง่ายที่สุดนั่นคือ การปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน ผนวกกับการรับประทานยารักษา แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยอาจต้องทำกายภาพบำบัดด้วยอุปกรณ์ชนิดพิเศษ การออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้ออย่างถูกวิธี การฝังเข็มแบบสลายจุดปวด (Dry needing) การนวดแผนไทย และอื่น ๆ ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการวินิจฉัยหาสาเหตุ รวมถึงตรวจดูว่ามีอาการแทรกซ้อนใด ๆ หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้แพทย์สามารถเลือกวิธีการรักษาโรคออฟฟิศซินโดรมได้อย่างเหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยมากที่สุด

การป้องกันการเกิดโรคออฟฟิศซินโดรม

  1. หมั่นออกกำลังกายด้วยท่าที่เหมาะสมกับอาการปวดเมื่อย
  2. ปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมกับสรีระ
  3. เปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานเสียใหม่ โดยจากที่เคยนั่งอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ก็ให้หาเวลาไปเดินผ่อนคลายกล้ามเนื้อและพักสายตาอย่างน้อยทุก ๆ 1 ชั่วโมงกำลังดี
  4. หากพบว่ามีอาการปวดกล้ามเนื้อที่ไม่สามารถหายได้จากการยืดกล้ามเนื้อ การปรับสรีระการทำงาน หรือการดูแลรักษาเบื้องต้นด้วยตนเอง ให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคออฟฟิศซินโดรมโดยทันที

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)

สรุป

   โรคออฟฟิศซินโดรม เป็นอาการของผู้ป่วยที่กล้ามเนื้อบริเวณคอ หลัง บ่า ไหล่ แขน หรือข้อมือ ยึดเกร็งและปวด โดยหากผู้ป่วยโรคออฟฟิศซินโดรมไม่ได้รับการรักษาเมื่อพบว่ามีความผิดปกติดังกล่าว ก็อาจทำให้อาการทรุดหนักลง ตลอดจนพัฒนากลายเป็นอาการปวดแบบเรื้อรัง ซึ่งนั่นสร้างผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอยู่ไม่น้อย ดังนั้น สำหรับคนทำงานออฟฟิศการนั่งทำงานในท่าที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงควรปรับเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลายจากการหดเกร็งเป็นเวลานาน

     ซึ่งสำหรับใครที่พบว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการของโรคออฟฟิศซินโดรมปรากฏให้เห็น ก็สามารถเข้ามารับการรักษากับทาง โรงพยาบาลไทยนครินทร์ ได้เลยในทันที เรามีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพร้อมให้คำปรึกษา และคอยดูแลอาการอย่างใกล้ชิดจนกว่าผู้ป่วยจะหายดีเป็นปกติ

DR_WANTANEEYA_WATCHAREEUDOMKARN-01
พญ. วันทนียา วัชรีอุดมกาล
 
แพทย์ที่ปรึกษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด โรงพยาบาลไทยนครินทร์