การบริหารสไตล์ญี่ปุ่น” เขียนโดยผู้บริหารชาวญี่ปุ่น

โดย: winai.d [IP: 49.49.251.xxx]
เมื่อ: 2015-05-18 22:52:53
“การบริหารสไตล์ญี่ปุ่น” เขียนโดยผู้บริหารชาวญี่ปุ่น"

.ที่คนทำงานควรอ่าน



ตามข้อมูลทางเศรษฐกิจระบุว่า มีบริษัทข้ามชาติโดยเฉพาะบริษัทจากญี่ปุ่น เข้ามาลงทุนในประเทศไทยประมาณ 7,500 – 8,000 กิจการ ว่าไปแล้วญี่ปุ่นน่าจะเป็นต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากที่สุด และยาวนานมาไม่ต่ำกว่า 20 – 30 ปี



จากข้อมูลตรงนี้ ก็น่าจะพอมองเห็นแล้วว่า ต้องมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เข้าไปทำงานในบริษัทญี่ปุ่น และแน่นอนว่าความแตกต่างทั้งภาษา วัฒนธรรมย่อมทำให้การทำงานร่วมกันระหว่างคนไทยกับคนญี่ปุ่นมีปัญหา หรือเกิดความไม่ราบรื่นขึ้นได้ในบางครั้ง



ประสบการณ์ มุมมองที่เห็นปัญหาดังกล่าว ได้ถูกนำมาบอกเล่าโดย อิมาอิ ฮิโรชิ อดีตผู้บริหารบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ในหนังสือชื่อ "การบริหารสไตล์ญี่ปุ่น" ซึ่งถือว่าเป็นเคล็ดลับในการทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่นหรือบริษัทญี่ปุ่น ให้ประสบความสำเร็จและมีความสุข



คุณฮิโรชิเข้ามาทำงานในเมืองไทยตั้งแต่ พ.ศ.2503 หรือเมื่อ 50 ปีก่อน แม้จะถูกย้ายไปที่โน่นที่นี่บ้างในบางครั้งบางคราว แต่คุณฮิโรชิก็ประจำอยู่ที่ประเทศไทย จึงไม่น่าแปลกใจที่ทุกวันนี้เขาจะสามารถพูดภาษาไทยได้ชัดเกือบ 100% เป็นผลจากในช่วงที่เขาเป็นผู้บริหารบริษัทโตโยต้าฯ เขาได้เข้าเรียนคอร์สภาษาไทยแบบไม่เอาหน่วยกิต ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



"ตอนผมมาเมืองไทยใหม่ๆ สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมืองไทยไม่มีอะไรเลย ไม่ค่อยมีบริษัท ถนนมีรถน้อยมาก หรือแทบไม่มีรถ ผมไปกินข้าวกลับบ้านตอนกลางคืน นั่งรถสามล้อถีบ มองไปบนท้องฟ้ามีแต่ดาวกับพระจันทร์ ก็เหมือนกับเมืองไทยสมัยนั้น" ฮิโรชิรำลึกความหลัง



พร้อมกับบอกว่าในทัศนะของเขา เขาคิดว่าคนไทยสมัยเมื่อ 50 ปีก่อนกับคนไทยตอนนี้ ไม่มีอะไรแตกต่างกัน คนไทยยังคงเป็นคนอบอุ่น มีน้ำใจ และใจเย็นมากๆ แตกต่างจากคนญี่ปุ่นที่เป็นคนใจร้อน นอกจากนี้คนไทยยังเป็นพวกขี้เกรงใจ มีอยู่ตอนหนึ่งประธานบริษัทชาวญี่ปุ่น ต้องการให้พนักงานคนไทยแสดงความคิดเห็น แต่ปรากฏว่าไม่มีคนไทยคนไหนแสดงความคิดเห็นออกมา ซึ่งตรงนี้แตกต่างจากคนญี่ปุ่นที่จะเกรงใจในบางกรณี แต่ส่วนใหญ่จะกล้าแสดงความคิดเห็น ตรงไหนดี ตรงไหนไม่ดีก็จะแสดงออกมา



"คนญี่ปุ่นใจร้อน บางทีดื้อ ไม่เชื่อฟัง ไม่เข้าใจว่าคนไทยมีน้ำใจ ไม่เข้าใจสภาพนิสัย ไม่เข้าใจวัฒนธรรมของคนไทย ไม่เข้าใจระบบศักดินาของไทยที่มีมานานตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งความไม่เข้าใจตรงนี้ทำให้เวลาทำงานอาจเกิดปัญหากันบ้าง"



คุณฮิโรชิบอกว่า เขาได้สังเกตเห็นความแตกต่างการทำงานทั้งของคนไทยและคนญี่ปุ่นมาเป็นเวลานานแล้ว ทั้งในแง่ความคิดของคนไทยและคนญี่ปุ่น และเห็นว่าคนไทยและคนญี่ปุ่นมีทัศนคติต่อการทำงานที่แตกต่างกัน จนได้ข้อสรุปว่า หากมีความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันแค่เพียงเล็กน้อย ก็อาจส่งผลให้การทำงานในแต่ละวันมีปัญหาเกิดอุปสรรคขึ้นได้เสมอๆ



"ผมทำงานในเมืองไทยเมื่อ 50 ปีที่แล้วนะครับ บางทีก็ไปทำงานที่ประเทศอื่น แต่ก็กลับมาทำงานที่เมืองไทยอีก กลับไปกลับมา 4 หน แต่จากสมัยโน้นจนถึงวันนี้ ปัญหาเดิมๆ ในการทำงานระหว่างคนไทยกับคนญี่ปุ่นก็ยังเกิดขึ้นเสมอๆ ทั้งในด้านทัศนคติที่มีต่องาน หรือพฤติกรรมการทำงานที่แตกต่างกัน ปัจจุบันก็ยังมีอยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง"



เขายังยกเรื่องนิสัยเกรงใจของคนไทยอีกว่า เป็นความแตกต่างกับปรัชญา "โฮเรนโซ" หรือปรัชญาการทำงานของญี่ปุ่นอย่างมาก โดยคำว่า "โฮ" นั้น หมายถึงการรายงาน "เรน" หมายถึงการติดต่อ และ "โซ" หมายถึงการปรึกษาหารือ ซึ่งคนญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นลูกน้องระดับไหน จะต้องทำรายงานข้อเสนอแนะความคิดเห็นให้เจ้านาย โดยไม่ต้องรอให้เจ้านายถาม แตกต่างจากการบริหารงานสไตล์อเมริกัน ที่ลูกน้องห้ามคิด ฟังคำสั่งเจ้านายอย่างเดียว ซึ่งตอนนี้อเมริกันได้นำสไตล์บริหารแบบญี่ปุ่นมาปรับใช้ในการทำงานบ้างแล้ว นอกจากนี้ การทำงานของญี่ปุ่นที่เน้นการ rotate หรือการสับเปลี่ยนหมุนเวียนตำแหน่งงานไปเรื่อยๆ ก็เป็นสิ่งที่คนไทยไม่เข้าใจและมองว่าเป็นการลดตำแหน่ง



"ในญี่ปุ่นตอนแรกมาสมัครงานเป็นวิศวกร แต่พอทำไปเห็นแววว่าคนคนนี้มีศักยภาพสูง มีศักยภาพด้านมาร์เก็ตติงด้วย ก็อาจจะย้ายให้เขาไปทำงานแผนกการตลาดด้วย วิธีนี้จะทำให้เขามีความสามารถมากขึ้น ความสามารถที่ 1 คือเป็น engineer ความสามารถที่ 2 คือด้านมาร์เก็ตติง เป็นเรื่องที่ดีครับ ผมคิดว่าการ rotate เป็นเรื่องการเลื่อนตำแหน่งนะครับ แทบทุกบริษัทในญี่ปุ่นก็ใช้วิธีนี้ แต่คนไทยเข้าใจว่า rotate เป็นการลดตำแหน่ง แต่คนญี่ปุ่นมองว่าเป็นความก้าวหน้าครับ"



เขายังบอกอีกว่า คนไทยอาจมองว่าคนญี่ปุ่นละเอียด เรื่องมาก เช่น การเตรียมเอกสารประชุม เนื้อหาเกี่ยวข้องประชุมอาจมีแค่ 100 หน้า แต่เจ้านายญี่ปุ่นอาจให้เตรียมเอกสารถึง 150 หน้า



"สมัยผมป็นประธานโตโยต้า การเตรียมเอกสารไว้ 100 หน้า ถือว่าดีแล้ว แต่ถ้าเตรียมอีก 50 หน้าจะดีกว่า อีก 50 หน้าเก็บไว้ในสมอง เผื่อไว้ในอนาคต" คุณฮิโรชิกล่าว



สำหรับหนังสือ "การบริหารสไตล์ญี่ปุ่น" แบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 ตอน โดยตอนที่ 1 เป็นเรื่องที่ควรรู้ เช่น ความแตกต่างทางวัฒนธรรมกับการทำธุรกิจ ภาษา และการดำเนินธุรกิจ ตอนที่ 2 การทำงานในบริษัทญี่ปุ่น เช่น ชุมชนสัมพันธ์ การคาดหวังของเจ้านายญี่ปุ่น การตัดสินใจแบบญี่ปุ่น ฯลฯ ตอนที่ 3 คุณลักษณะของคนไทย เช่น ใจจริงของคนไทย ความคิดของคนไทยที่ไม่แสดงออก ความเกรงใจและความคาดหวังของคนไทย ตอนที่ 4 ปัญหาระหว่างชาวญี่ปุ่นกับชาวไทย เช่น การสื่อสารกับคนญี่ปุ่น ปัญหากับคนญี่ปุ่น การสมาคมกับชาวญี่ปุ่น ตอนที่ 5 แนวทางแก้ไขปัญหา เช่น ความเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่างและการจัดการ ซึ่งทั้งหมดพัฒนามาจากบทความเรื่อง Business Protocal in Thailand ที่เขาเขียนให้คนญี่ปุ่นอ่าน เพื่อเป็นข้อมูลในการทำธุรกิจและทำงานกับคนไทย



"ผมเขียนหนังสือเล่มนี้ เขียนเพื่อให้คนไทยอ่านครับ และผมหวังให้นักธุรกิจคนไทย หรือคนไทยที่ทำงานกับคนญี่ปุ่น ได้ทำความเข้าใจกับทัศนคติและพฤติกรรมนักธุรกิจญี่ปุ่น ถ้าลดปัญหานี้ไปได้ การทำงานร่วมกันก็จะดีมากๆ ครับ"



ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้อ่านเนื้อหาทั้งเล่ม แต่พอได้ฟังจากปากคำผู้เขียน ก็เข้าใจแล้วว่าทำไมญี่ปุ่นจึงได้เป็นประเทศทรงอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลก ถึงแม้ตอนนี้จะเสียตำแหน่งเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกให้กับจีนไปแล้ว แต่ญี่ปุ่นก็คือญี่ปุ่น อาทิตย์อุทัยที่ไม่มีวันดับ



สำหรับหนังสือ "การบริหารสไตล์ญี่ปุ่น" จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์โพสต์บุ๊ค รายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายหนังสือเล่มนี้ คุณฮิโรชิระบุว่ายกให้มูลนิธิเพื่อช่วยเหลือการศึกษาแก่เด็กผู้ยากไร้ สนใจหาซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วไป



ผมได้อ่านหนังสือเล่มนี้คร่าวๆ แล้ว เห็นว่าเป็นหนังสือที่ดีเขียนแบบกลางๆ ให้เราเข้าใจการทำงานร่วมกับชาวญี่ปุ่น ซึ่งในชีวิตการทำงานจริงนั้นจะมีความแตกต่างกันในรายละเอียด เนื่องจากวัฒนธรรมที่มีหลายระดับ ทั้งระดับชาติ องค์กร และผู้บริหาร ที่มักมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 – 5 ปี ผสมผสานทำให้แต่ละองค์กรมีความแตกต่างกัน องค์กรที่คุณฮิโรชิ เขียนถึงนั้นเป็นแบบอนุรักษ์นิยมกลางๆ (Conservative) บางองค์กรอาจเป็นแบบอนุรักษ์นิยมเข้มข้น หรือแบบ Aggressive ก็มี



จากประสบการณ์ที่ผมทำงานมา 25 ปี และได้ทำงานกับชาวญี่ปุ่นมา 20 ปี และมีเพื่อนๆ ในวงการ HRหลายคนที่ทำงานในองค์กรญี่ปุ่นเช่นกัน ในโอกาสนี้ท่านที่สนใจอ่านหนังสือเล่มนี้ และเพื่อนๆ ที่สนใจจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ยินดีครับ และในครั้งต่อๆ ไป ผมจะได้หยิบยกเรื่องราวในหนังสือนี้ มาต่อยอดขยายความมุมมองอื่นๆ เพื่อเป็นประโยชน์แก่คนทำงานและเยาวชนรุ่นหลังที่จะก้าวเข้าสู่การทำงานต่อไป





ขอบคุณไทยโพสต์

http://www.thaipost.net/tabloid/180911/45162

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 568,597