เรียนรู้วิธี การขับรถยก อย่างปลอดภัย ต้องปฏิบัติอย่างไร
การเรียนรู้วิธี การขับรถยก อย่างปลอดภัย เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะ รถยกเป็นยานพาหนะที่ใช้สำหรับทำงานที่มีประโยชน์อย่างมาก หากมีการใช้งานอย่างปลอดภัยและเหมาะสม โดยผู้ซึ่งทำหน้าที่ในการขับรถยกต้องได้รับการฝึกอบรมโฟล์คลิฟท์ที่เหมาะสมและมีความสามารถในการใช้งาน โดยอันตรายจากรถยกสามารถเกิดขึ้นได้ คิดเป็น 25% ของการบาดเจ็บในที่ทำงาน
อุบัติเหตุในที่ทำงานจำนวนมาก เกี่ยวข้องกับคนที่ถูกรถยกชนหรือรถยกทับ (โดยทั่วไปมักเกิดเมื่อรถยกถอยหลัง) เพราะผู้ทำหน้าที่ขับรถยกมองไม่เห็น เนื่องจากขนาดและน้ำหนักของรถยก จึงทำให้อุบัติเหตุที่เกิดจากรถยกร้ายแรงมาก อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมักมาจากการควบคุมดูแลที่ไม่ดีและการขาดการฝึกอบรม ต่อไปนี้ คือสิ่งที่จะช่วยให้สามารถปฏิบัติงานกับรถยกได้อย่างปลอดภัย
ปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายใน การขับรถยก
การใช้งานรถยกต้องมั่นใจว่าปลอดภัยและตรงตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน ภายใต้กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2564 หมวด 1 เครื่อจักร ส่วนที่ 4 รถยก ซึ่งได้กำหนดให้นายจ้างดำเนินการด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับรถยกเอาไว้ ว่านายจ้างจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง โดยสามารถเข้าไปดูรายละเอียดตามข้อกำหนดของกฎหมายได้ ในกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว และนายจ้างต้องแน่ใจว่าผู้ขับขี่ได้รับการฝึกอบรมตามข้อกำหนดของการใช้รถยกอย่างถูกต้องและปลอดภัย ตามคำแนะนำที่ผู้ผลิตกำหนดไว้
ข้อควรปฏิบัติใน การขับรถยก อย่างปลอดภัย
ต่อไปนี้คือสิ่งที่ต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอเพื่อความปลอดภัย เมื่อต้องปฏิบัติงานกับรถยก
- สวมอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยที่เหมาะสม ตามที่กำหนดตลอดเวลาที่มีการปฏิบัติงานกับรถยก ได้แก่ หมวกนิรภัย รองเท้านิรภัย เสื้อสะท้อนแสง เป็นอุปกรณ์ความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน และต้องสวมอุปกรณ์อื่นเพิ่มเติม ตามลักษณะของการปฏิบัติงานและสภาพแวดล้อมในบริเวณนั้น
- ตรวจสอบรถยกทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนกะการทำงาน
- รายงานข้อบกพร่องของรถยกต่อหัวหน้างานทันทีที่ตรวจพบ
- คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งและตลอดเวลาที่ขับรถยก
- ตรวจสอบให้มั่นใจว่าไม่มีสิ่งกีดขวางบริเวณทางเดินรถ
- ตรวจสอบพื้นที่รอบๆ ก่อนการขับรถยกออกไป
- ขับรถยกด้วยความเร็วที่เหมาะสมกับสถานที่และสิ่งของที่บรรทุกและตามที่กำหนดไว้
- ขับรถยกโดยการลดงาลงต่ำตามระยะที่เหมาะสม
- ระวังคนเดินเท้า
- หลีกเลี่ยงการหยุดรถอย่างกะทันหันและเบรกอย่างรุนแรง
- ใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อขับบนพื้นที่เปียก ลื่น
ต่อไปนี้คือสิ่งที่ห้ามปฏิบัติเมื่อต้องทำงานกับรกยก
- ห้ามขับรถยกเด็ดขาดหากไม่ได้รับการฝึกอบรมตามที่กฎหมายกำหนด และไม่ได้รับอนุญาต
- ใช้รถยกหรืออุปกรณ์ในการทำงานโดยไม่มีความรู้
- ควบคุมการทำงานของรถยกโดยไม่ได้อยู่บนตัวรถ
- สตาร์ทและหยุดรถกะทันหัน
- เลี้ยวรถยกอย่างกะทันหันหรือด้วยความเร็ว
- ขับรถยกบนพื้นผิวที่ไม่เรียบ
- ขับรถยกผ่านสายไฟ โดยไม่มีมาตรการป้องกัน
- ซ่อมบำรุงรถยกโดยไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง
- ขับรถยกเมื่ออยู่ในสภาพมึนเมา แอลกอฮอล์หรือสารเสพติด
- ใช้อุปกรณ์สื่อสารหรืออุปกรณ์พกพาอื่นๆ ในขณะขับรถยก
การบรรทุกโหลด
การบรรทุกโหลดเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน มีข้อที่ต้องปฏิบัติเสมอเมื่อมีการบรรทุกโหลด ดังนี้
- ประเมินน้ำหนักบรรทุกก่อนการยก ตรวจสอบน้ำหนัก ขนาดของโหลด และจุดศูนย์ถ่วงก่อนการยก
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าพาเลทอยู่ในสภาพดี พร้อมใช้งาน
- ยกตามขนาดพิกัดที่กำหนด
- ตรวจสอบการรับน้ำหนักของชั้นวางสินค้าก่อน
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าสิ่งของที่ยกไม่บดบังการมองเห็น
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่า สิ่งของที่ยกไม่เกินขนาดพิกัดการยกของรถยก
- ตรวจสอบสภาพสิ่งของที่จะยกให้มั่นใจว่าสามารถยกได้อย่างปลอดภัย
- บรรทุกของให้ใกล้พื้นมากที่สุดถ้าทำได้
- ขับรถยกอย่างนุ่มนวล
- ปรับระยะของงาให้เหมาะสมกับสิ่งที่ยก
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้เสียบงาของรถยกเข้าไปจนสุดเมื่อต้องเคลื่อนย้ายสิ่งของ
- หยุดรถยกก่อนการยกสิ่งของขึ้นและลง
- ยกสิ่งของลงด้วยความเร็วที่ปลอดภัย
การปฏิบัติงานบนทางลาดชัน
- ขับอย่างช้าๆ เมื่อต้องลงทางลาดชัน
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้กระดกปลายงาขึ้นเมื่อมีการยกสิ่งของลงทางลาดชัน
- การขึ้นที่ชันให้เดินหน้าขึ้น
- การลงที่ลาดให้ถอยหลังลง
- ห้ามจอดรถยกบนทางลาดชัน เว้นแต่กรณีฉุกเฉิน และต้องหนุนล้อเสมอ
การบรรทุกคน
เมื่อจำเป็นต้องบรรทุกคนในการปฏิบัติงานบนที่สูง ต้องดำเนินการดังนี้
- ใช้วิธีการทำงานที่ปลอดภัย เช่น การใช้กระเช้าสำหรับขึ้นที่สูง โดยต้องมีมาตรการด้านความปลอดภัย
- ต้องมีผู้ควบคุมรถยกตลอดเวลา เมื่อมีการใช้กระเช้าในการทำงาน
- ระวังคนเดินเท้าบริเวณที่มีการปฏิบัติงาน ห้ามเดินลอดผ่านงารถยก
- มีผู้สังเกตการณ์เมื่อปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีผู้คนอยู่ในบริเวณนั้น
- ห้ามเคลื่อนตัวรถในกรณีมีผู้ปฏิบัติงานบนที่สูง
- ห้ามบรรทุกผู้โดยสารโดยเด็ดขาด
ข้อปฏิบัติเมื่อปฏิบัติงานเสร็จ
- จอดรถยกในพื้นที่ที่กำหนดบนพื้นราบไม่จอดบนทางลาดชัน
- จอดรถยกให้เสาเอียงไปด้านหน้าและลดงาลงบนพื้น
- ใส่เบรกมือ ปลดเกียร์ว่าง ปิดสวิตช์เครื่องยนต์ และถอดกุญแจออก
- เก็บกุญแจไว้ในจุดที่กำหนด
- รายงานความผิดปกติหรือข้อบกพร่องให้หัวหน้างานทราบทันที ถ้าพบว่ามี
สรุป
การขับรถโฟล์คลิฟท์ อย่างปลอดภัย การปฏิบัติงานกับรถยก ถึงแม้ว่าจะช่วยอำนวยความสะดวกให้สามารถทำงานได้ตามที่วางแผนไว้ แต่การใช้รถยกในการปฏิบัติงาน ผู้ที่ทำหน้าที่ในการขับต้องผ่านการอบรมตามที่กฎหมายกำหนด และต้องทำตามมาตรการด้านความปลอดภัยด้วย เพราะหากผู้ปฏิบัติงานละเลย อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุที่ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ที่มาข้อมูล
https://www.machineblog.net/safe-driving-of-forklifts/