แนวปฏิบัติเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน-ความเป็นระเบียบเรียบร้อย

แนวปฏิบัติเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน - ความเป็นระเบียบเรียบร้อย

ความเป็นระเบียบเรียบร้อย หมายถึง การจัดให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในบริเวณพื้นที่ปฏิบัติงานและห้องเก็บวัสดุสิ่งของ เราอาจกล่าวได้ว่าโรงงานทุกแห่ง จะมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยได้ หากมีการจัดวางสิ่งของอย่างเป็นะเบียบอยู่ในสภาพที่ดีสามารถใช้งานได้ และอยู่ในสถานที่ที่กำหนดอย่างเหมาะสม การจัดสิ่งของให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นวิธีการหนึ่งที่จะก่อให้เกิดการเพิ่มผลผลิตสามารถลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ และเพิ่มขวัญกำลังใจให้แก่ลูกจ้างได้

   อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากการกระทำของคน เช่น

    • การเดินสะดุดวัสดุสิ่งของหรือหกล้ม

    • การเดินเหยียบหรือชนวัสดุสิ่งของ

    • โดนวัสดุสิ่งของหล่นใส่

    อุบัติเหตุเหล่านี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการจัดเก็บวัสดุสิ่งของที่ไม่เป็นระเบียบและไม่ปลอดภัยสภาพภายในโรงงานจะมีการวางวัสดุ สิ่งของจำพวกวัสดุเหลือใช้ ของที่ผลิตเสร็จเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งของที่จะทิ้งและเศษวัสดุวางเกลื่อนไปทั้งโรงงานจนแทบจะไม่มีทางเดิน ภาชนะใส่เศษวัสดุที่เต็มจนล้น มีหยดน้ำมันหกเรี่ยราดอยู่ตามพื้น พื้นและบันไดชำรุด มีเครื่องมือวางเกะกะอยู่ทั่วไป ในบริเวณที่ทำงาน บนเครื่องจักร และอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงสายไฟฟ้า และท่อลม ถ้าการจัดเก็บวัสดุสิ่งของไม่ดีจะเป็นสาเหตุก่อให้เกิดเพลิงไหม้ได้
    การวางแผนและดำเนินการจัดเก็บวัสดุสิ่งของอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย จะก่อให้เกิดผลดีต่อไปนี้

     1. ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เมื่อโรงงานมีความสะอาดและมีการจัดวางวัสดุสิ่งของไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย จะช่วยให้เกิดการประหยัดทั้งเวลาและแรงงาน ในการคงไว้ซึ่งความสะอาดต่อไป

     2. เพิ่มผลผลิต เมื่อได้มีการขจัดสิ่งที่จะขัดขวางการผลิตออกไป ก่อให้เกิดความเป็นระเบียบ และมีระบบการบริหารที่ดี เป็นผลให้กิจการดำเนินไปได้อย่างราบรื่นปราศจากสิ่งที่จะทำให้การผลิตชะงัก หรือชักช้าจึงทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น

     3. ควบคุมการผลิตได้ดีขึ้น วัสดุและชิ้นส่วนไม่สูญหาย หรือปะปนกัน ทำให้สามารถตรวจสอบ และบันทึกข้อมูลได้ง่ายขึ้น

     4. ประหยัดวัสดุและชิ้นส่วน วัสดุที่ไม่ได้ใช้วมทั้งของที่ชำรุดหรือเสียใช้การไม่ได้และเศษวัสดุ สามารถขจัดออกได้ง่ายและรวดเร็ว ไม่ปะปนกับของดี

      5. การผลิตกระทำได้รวดเร็วขึ้น เนื่องจากไม่จำเป็นต้องเสียเวลาในการค้นหาเครื่องมือชิ้นส่วนหรือวัสดุ

      6. มีพื้นที่ว่างมากขึ้น พื้นที่ว่างจะทำให้ผู้ที่ปฏิบัติงานมีความคล่องตัวในการปฏิบัติงานมากขึ้น และยังทำให้ช่างซ่อมบำรุงสามารถเข้าถึงเครื่องจักรและอุปกรณ์ได้ง่ายขึ้น

       7. เคลื่อนย้ายวัสดุได้เร็วขึ้น ทางเดินที่โล่งไม่มีวัสดุสิ่งของว่างเกะกะ ทำให้เคลื่อนย้ายวัสดุได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น

      8. ลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ การจัดให้มีพื้นที่ปฏิบัติงานอย่างเพียงพอเป็นการลดความเสี่ยงของผู้ปฏิบัติงานที่จะเดินสะดุด หรือชนวัสดุสิ่งของ หมายถึง จำนวนการบาดเจ็บก็จะลดลงด้วย

       9. เพิ่มขวัญและกำลังใจของพนักงาน หากบริเวณโดยรอบที่ทำงานสะอาดและปราศจากสิ่งที่จะก่อให้เกิดการบาดเจ็บ ย่อมจะเป็นการทำให้ขวัญและกำลังใจของพนักงานดีขึ้น

       10. ลดความเสี่ยงของการเกิดเพลิงไหม้ เหตุเพลิงไหม้มักเกิดจากสภาพการจัดเก็บวัสดุสิ่งของไม่เป็นระเบียบ ดังนั้นหากมีการจัดเก็บที่ดีจะเป็นสิ่งที่สามารถควบคุมและป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ได้ การใช้แบบฟอร์มตรวจสอบการจัดเก็บวัสดุสิ่งของเป็นสิ่งที่จะช่วยให้การดำเนินการจัดเก็บวัสดุสิ่งของบรรลุตามมาตรฐานกำหนด

โพสต์เมื่อ 22nd April 2011 โดย maitree

Visitors: 570,290