เลือกใช้ถังดับเพลิงถูกประเภท ปลอดภัยกว่า

เลือกใช้ถังดับเพลิงถูกประเภท ปลอดภัยกว่า

          ไฟไหม้เป็นเรื่องอันตราย และน่ากลัว อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ทั้งหน้าร้อน หน้าหนาว ต่างก็เสี่ยงต่อการเกิดเหตุเพลิงไหม้ได้ง่าย BnB Home เป็นห่วงความปลอดภัยของคุณและคนในบ้าน จึงเอาความรู้เกี่ยวกับประเภทของถังดับเพลิงมาแบ่งปันกันครับ ว่ามีประเภทไหนบ้าง และแต่ละประเภทใช้งานต่างกันอย่างไร 

ลักษณะของเชื้อเพลิง (Fire Classes)

          ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับลักษณะของเชื้อเพลิงแต่ละประเภทกันก่อน เพราะหากเราแยกประเภทเชื้อเพลิงได้ถูกต้อง เราก็จะสามารถเลือกใช้ถังดับเพลิงได้ถูกกับลักษณะของเชื้อเพลิง

          - Class A เพลิงไหม้ที่เกิดจาก เชื้อเพลิงของแข็ง เช่น ไม้ กระดาษ ผ้า พลาสติก ปอ นุ่น ยาง เป็นต้น เป็นเชื้อเพลิงที่มักเกิดในอาคาร ที่พักอาศัยทั่วไป ซึ่งเพลิงไหม้ประเภทนี้สามารถดับได้ด้วยน้ำเปล่า

          - Class B เพลิงไหม้ที่เกิดจาก เชื้อเพลิงของเหลวติดไฟ เช่น น้ำมันก๊าซ น้ำมันเบนซิน ก๊าซไวไฟ เป็นต้น เชื้อเพลิงประเภทนี้สามารถลุกไหม้ได้นาน เมื่อมีออกซิเจนอยู่รอบๆ สำหรับการดับเพลิงไหม้ประเภทนี้จึงต้องกำจัดออกซิเจนโดยรอบออก

          - Class C เพลิงไหม้ที่เกิดจาก วัสดุและอุปกรณ์ที่มีไฟฟ้าไหลอยู่ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ หรือไฟฟ้าลัดวงจร เป็นต้น ซึ่งเพลิงไหม้ประเภทนี้ควรตัดระบบไฟฟ้าก่อนทำการดับไฟ

          - Class D เพลิงไหม้ที่เกิดจาก โลหะที่ติดไฟได้ เช่น อลูมิเนียม แมกนีเซี่ยม ไตตาเนียม เป็นต้น เชื้อเพลิงประเภทนี้มักพบในห้องทดลอง หรือห้องปฏิบัติการ ไปจนถึงโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เชื้อเพลิงเหล่านี้ ซึ่งเพลิงไหม้ประเภทนี้ไม่สามารถดับด้วยน้ำเปล่า และสำหรับแมกนีเซียมห้ามใช้น้ำดับเด็ดขาด ต้องใช้เกลือแกงหรือทราย

          - Class K เพลิงไหม้ที่เกิดจาก น้ำมันที่ใช้ในการทำอาหาร เช่น น้ำมันพืช น้ำมันหมู มักเกิดเพลิงไหม้จากเชื้อเพลิงเหล่านี้ในห้องครัว หรือร้านอาหาร

 ประเภทของถังดับเพลิง

          1. ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง (Dry Chemical)

          ดับไฟได้เกือบทุกประเภท คือ ประเภท A B C ยกเว้นประเภท K เหมาะกับที่พักอาศัย โรงงานอุตสาหกรรม เมื่อฉีดออกมาจะเป็นฝุ่นผงเคมีฟุ้งกระจายออกมา เพื่อขัดขวางการลุกไหม้ของออกซิเจนกับเชื้อเพลิง เมื่อฉีดออกมาแล้ว ไม่ว่าจะใช้หมดหรือไม่หมดถัง แรงดันของถังจะตกและไม่สามารถใช้งานได้อีก ต้องส่งอัดบรรจุใหม่

          2. ถังดับเพลิงชนิดน้ำยาเหลวระเหย (Halotron)

          ดับไฟประเภท A B C สารดับเพลิงชนิดนี้ เป็นสารเคมีเหลวที่มีความเย็นจัด เมื่อฉีดออกมาจะเป็นไอระเหย ทำหน้าที่กำจัดความร้อนและขัดขวางการเผาไหม้ออกซิเจนและไม่เป็นสื่อนำไฟฟ้า โดยสารดับเพลิงชนิดนี้จะไม่ทิ้งคราบสกปรกหลังดับ อีกทั้งยังไม่ทำลายอุปกรณ์ไฟฟ้าด้วย เหมาะกับพื้นที่ที่ไม่ต้องการให้มีคราบสกปรกหลังดับเพลิงไหม้ เช่น โรงพยาบาล ห้องคอมพิวเตอร์ เรือ เครื่องบิน หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

          3. ถังดับเพลิงชนิดโฟม (Foam)

          ดับไฟประเภท A และ B ได้เป็นอย่างดี แต่ไม่สามารถดับไฟประเภท C ได้ เนื่องจากโฟมมีส่วนผสมของน้ำเป็นสื่อนำไฟฟ้า เหมาะสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเชื้อเพลิงและก๊าซไวไฟ และปั๊มน้ำมัน เป็นต้น เมื่อฉีดออกมาจะเป็นฟองโฟมกระจายปกคลุมพื้นผิวเชื้อเพลิงที่ลุกไหม้ ทำให้ไฟขาดออกซิเจนและลดความร้อน รวมถึงการปกปิดพื้นผิวของของเหลวอย่างน้ำมันได้ดี

          4. ถังดับเพลิงชนิดคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)

          ดับไฟประเภท B C เหมาะกับอุตสาหกรรมอาหาร ห้องเครื่องจักร  โรงงานไลน์ผลิตขนาดใหญ่ ลักษณะปลายกระบอกฉีดของถังดับเพลิงประเภทนี้จะใหญ่เป็นพิเศษ เมื่อฉีดออกมาแล้วจะเป็นไอเย็นจัดคล้ายน้ำแข็งแห้ง ช่วยลดความร้อนและดับไฟได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังไม่ทิ้งคราบสกปรกด้วย 

          5. ถังดับเพลิงชนิดน้ำสะสมแรงดัน (Water Pressure)

          ดับไฟประเภท A เป็นถังดับเพลิงที่บรรจุน้ำธรรมดาและก๊าซไว้ ใช้ฉีดเพื่อลดอุณหภูมิความร้อนของเชื้อเพลิงที่เป็นของแข็ง เหมาะสำหรับใช้ในที่พักอาศัย โรงงานเสื้อผ้า เป็นต้น

          6. ถังดับเพลิงชนิดเคมีสูตรน้ำ (Water Chemical)

          ดับไฟประเภท A B C D และ K เหมาะกับใช้ในครัว หรือร้านอาหาร

           นอกจากถังดับเพลิงทั้ง 6 ประเภทด้านบนนี้แล้ว ยังมีประเภทอื่นอีกหลายชนิด ที่มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไปอีก ซึ่งทั้ง 6 ประเภทที่ได้กล่าวมาข้างต้น ได้แยกตามมาตรฐานของ NFPA10

 วิธีการใช้ถังดับเพลิง 

          1. เข้าไปทางเหนือลมโดยห่างจากฐานของไฟประมาณ 2 - 3 เมตร

          2. ดึงสลักหรือลวดที่รั้งวาล์วออก

          3. ปลดสายฉีดที่ถังดับเพลิง

          4. กดคันบีบไกของถังดับเพลิง เพื่อเปิดวาล์วให้ก๊าซพุ่งออกมา

          5. ส่ายปลายหัวฉีด ชี้ไปที่ฐานของไฟ ทำมุมประมาณ 45 องศา ให้ฉีดไปตามทางยาว และส่ายหัวฉีดไปช้า ๆ

          6. ดับให้สนิทจนแน่ใจแล้ว จึงฉีดต่อไปข้างหน้า

          ในกรณีที่เกิดเพลิงไหม้วางอยู่ในระดับต่างกัน ให้ฉีดจากข้างล่างไปหาข้างบน และถ้าน้ำมันรั่วไหลให้ฉีดจากปลายทางที่รั่วไหลไปยังจุดที่รั่วไหล และเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้า ที่มีกระแสไฟฟ้าไหลอยู่ ต้องรีบตัดกระแสไฟฟ้าก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลุกไหม้ขึ้นมาอีกได้

 

วิธีการตรวจสอบถังดับเพลิง

          1. ดูที่เข็มในมาตรวัด (Pressure Gauge) ของถังดับเพลิง เครื่องดับเพลิงที่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ เข็มจะชี้ที่ช่องสีเขียว (ตรงกลาง ชี้ขึ้นด้านบน) แต่ถ้าเข็มเอียงไปทางซ้ายแสดงว่าแรงดันไม่มี ต้องรีบนำไปเติมแรงดันทันที ซึ่งควรตรวจสอบเป็นประจำทุกเดือน

          2. ตรวจสอบสายฉีด และหัวฉีด อย่าให้มีผงอุดตัน ควรตรวจเป็นประจำทุกเดือน

          3. ถ้าไฟไหม้ หรือกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ให้ส่งไปตรวจสอบและบรรจุใหม่

          4. สภาพบรรจุของถังดับเพลิงต้องไม่บุบ หรือบวม และไม่ขึ้นสนิม

          5. อายุการใช้งาน ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง (ถังสีแดง) มีอายุประมาณ 5 ปี ชนิดน้ำยาเหลวระเหย หรือ Halotron (ถังสีเขียว) และชนิดคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีอายุประมาณ 10 ปี

          6. ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง (ถังสีแดง) หากมีการใช้งานแล้ว ต้องนำไปเติมสารเคมีใหม่ทุกครั้ง

 

อ้างอิงข้อมูลจาก: harn.co.th และ ntnsafety.com

ประเภทไฟและถังดับเพลิง

ารเลือกใช้ถังดับเพลิงให้เหมาะสมกับประเภทเชื้อเพลิง 

ที่มา : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย

Visitors: 569,663