“การประเมินอันตราย” มันต่างจาก “การประเมินความเสี่ยง” อย่างไร

สวัสดีครับ 

     พอดีไปอ่านพบมา ขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อนะครับ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สมาคมอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน

 
 
ความคาดหวังต่อคุณสมบัติ “ผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน” ตามมาตรา 33 แห่งพรบ.ความปลอดภัย ฯ พ.ศ. 2554
ในมาตรา 32 ของพรบ.ฉบับนี้ กำหนดว่านายจ้างต้องจัดทำ “การประเมินอันตราย” โดยต้องทำตามคำแนะนำของ “ผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน” (ต่อไปนี้จะเรียกสั้น ๆ ว่า “ผู้ชำนาญการ”) และต้องให้ผู้ชำนาญการคนนี้ลงนามรับรองด้วยว่านายจ้างทำการประเมินตามที่ได้แนะนำไป แสดงว่าคน ๆ นี้ต้องไม่เบาเลยทีเดียว
 
ทีนี้มีคำถามว่า แล้ว “การประเมินอันตราย” มันต่างจาก “การประเมินความเสี่ยง” อย่างไร
ในความเห็นของผม คิดว่าโดยพื้นฐานแล้วไม่ต่างกันดอก เป็นเรื่องของการใช้คำซะมากกว่า แต่ถ้าพยายามจะให้มันต่าง ผมมองดังนี้
 
1. การประเมินอันตรายตามมาตรา 32 มีรังสีอำมหิตอยู่ (เล่นสำนวนหนังจีนกำลังภายในหน่อย) คือน่าจะเป็นเรื่องอะไรที่มีความรุนแรงมาก ถึงขนาดกำหนดให้ต้องทำตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งหากไปอ่านในหมายเหตุของพรบ. ที่บอกเหตุผลของการกำหนดพรบ.ความปลอดภัยฯ ฉบับนี้ ก็ได้อ้างถึงเรื่อง “…..​การนำเทคโนโลยี เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ สารเคมี และสารเคมีอันตรายมาใช้ในกระบวนการผลิต การก่อสร้าง และบริการ แต่ขาดการพัฒนาความรู้ความเข้าใจควบคู่กันไป ทำให้ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงาน​…..” นั่นแสดงถึงนัยยะของระดับความรุนแรงที่มากกว่าเดิม ๆ
2. ถ้าพูดในเชิงเปรียบเทียบ ก็อาจเหมือนกฎหมายของสหราชอาณาจักร ที่กำหนดเกี่ยวกับ Control of Major Accident Hazards ซึ่งโรงงานต้องทำ Safety Report ด้วย (Major Accident Hazards จะเป็นพวกโรงงานปิโตรเลียม โรงงานเคมี ฯลฯ ที่มีการใช้สารเคมีอันตรายมากในปริมาณที่กำหนด ซึ่งมีอันตรายทั้งต่อชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม)
3. ส่วนการประเมินความเสี่ยงนั้น ก็เป็นอันตรายทั่วไป เพราะในพรบ.ฉบับนี้ กำหนดว่าอาจไปจ้างบุคคลหรือนิติบุคคลที่ขึ้นทะเบียนกับทางการ ดำเนินการให้ก็ได้ หรือสถานประกอบกิจการทำเองก็ได้ อีกทั้งในกฎกระทรวงว่าด้วยจป. ก็กำหนดให้เป็นหน้าที่ของจป. วิชาชีพ (อยู่แล้ว) (นัยยะของเรื่องจึงบ่งบอกว่าระดับความรุนแรงมันต่ำกว่าข้อ 1 ข้างต้นนี้
4. อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าปวดหัวสำหรับผู้ปฏิบัติก็คือ ในกฎกระทรวงว่าด้วยสารเคมีอันตราย พ.ศ. 2556 ข้อ 32 กำหนด “ให้นายจ้างที่มีสารเคมีอันตรายไว้ในครอบครองตามรายชื่อและปริมาณที่อธิบดี ประกาศกําหนด จัดให้มีการประเมินความเสี่ยงในการก่อให้เกิดอันตรายและจัดทํารายงานการประเมินความเสี่ยงนั้นอย่างน้อยห้าปีต่อหนึ่งครั้ง” เห็นไหมครับ กฎหมายนี้ใช้คำว่าการประเมินความเสี่ยงในความหมายที่ผมคิดว่าตรงกันกับการประเมินอันตรายเลย
 
จึงสร้างความสับสนให้คนทำงานดีแท้ เรื่องนี้ขอฝากกับกระทรวงแรงงานเลยว่าเมื่อจะทำการปรับปรุงพรบ.ฉบับนี้ / กฎกระทรวงว่าด้วยสารเคมี / กฎกระทรวงว่าด้วยจป. / และกฎหมายอื่นใดที่จะออกมา ขอให้คำนึงถึงคำที่จะใช้ด้วย
*** อย่างไรก็ตาม ย้ำอีกครั้งว่าในความเห็นส่วนตัว มันไม่ต่างกันดอก เพราะในอุตสาหกรรมที่เป็น Major Hazard Industry ตำรา บทความ เอกสารวิชาการ ฯลฯ ของฝรั่ง เขาก็ใช้คำว่า Risk Assessment กันทั้งนั้น ดังนั้นการใช้คำเรียกต่าง ๆ ในกฎหมาย จึงต้องระมัดระวังให้มาก เพื่อมิให้เกิดความสับสนขึ้นมา ***
 
เอาละครับ กลับมาดูหน้าที่ของเหล่าจป.กันหน่อย อ่านกฎกระทรวงว่าด้วยจป. จะพบว่า จป.เทคนิค/ เทคนิคขั้นสูง/ วิชาชีพ ทำหน้าที่เรื่อง
   - วิเคราะห์งานเพื่อชี้บ่งอันตราย รวมทั้งกําหนดมาตรการป้องกันและขั้นตอนการทํางาน อย่างปลอดภัยเสนอต่อนายจ้าง
   - ประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในการทํางาน (ข้อนี้กำหนดเฉพาะสำหรับจป.วิชาชีพ)
 
ซึ่งจะเห็นได้ว่า การวิเคราะห์ การประเมินนี้ ยังไงมันก็ต้องครอบคลุมถึงอันตรายทั้งหมดที่มีอยู่แล้วในงาน/กระบวนการผลิต
ดังนั้นจึงสะท้อนหรือบ่งบอกให้เห็นว่า การประเมินอันตรายตามมาตรา 32 มันจึงต้องเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อน (Complications) ในกระบวนการผลิต หรือใช้เทคโนโลยีที่ล้ำมาก หรือใช้สารที่ Very very hazardous ในปริมาณที่มาก ๆ อะไรทำนองนี้
จึงมาถึงบทสรุปความคาดหวังของผมต่อคุณสมบัติ “ผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน” ตามมาตรา 33 แห่งพรบ.ความปลอดภัย ฯ พ.ศ. 2554 จึงมีดังนี้
1. กฎกระทรวงใหม่ต้องกำหนด “หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินการ” และ “ประเภทกิจการ ขนาดของกิจการที่ต้องดำเนินการ” ที่สะท้อนถึงความจำเป็นที่ต้องให้ไปใช้บริการของผู้ชำนาญการ
2. แล้วจึงมากำหนดคุณสมบัติของผู้ชำนาญการ ซึ่งต้องดู “เหนือชั้น” ในแง่ความรู้ ประสบการณ์ และผลงาน (ไม่งั้นจะเรียกเป็นผู้ชำนาญการได้อย่างไร) และสัมพันธ์กับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินการ และ ประเภทกิจการ ขนาดของกิจการที่ต้องดำเนินการ ที่กำหนดไว้ในข้อ 1
3. ทั้งนี้ ผู้ชำนาญการ ไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลภายนอกเท่านั้น เพราะคนภายในสถานประกอบกิจการนั้น ๆ อาจมีคนที่ได้คุณสมบัติตามที่กำหนดก็ได้
*** แต่จริง ๆ แล้วผมคิดว่าตามเจตนารมณ์ของพรบ.นี้ ต้องเป็นคนนอก เพราะคนในก็ทำหน้าที่ตามที่กล่าวมาข้างต้นอยู่แล้ว จะมากำหนดอะไรอีกให้เป็นผู้ชำนาญการ แต่มานึกถึงภาระที่ต้องจ้างคนนอก ก็เลยต้องคิดแบบน่าจะขัดกับเจตนารมณ์ของพรบ.ในเรื่องผู้ชำนาญการ)
4. และที่สำคัญ กฎหมายเรื่องผู้ชำนาญการที่จะออกมาใหม่นี้ ต้องมองให้ออกถึงจิกซอการทำงานระหว่างการทำงานของเหล่าจป.เทคนิค/ เทคนิคขั้นสูง/ วิชาชีพ และหน่วยงานความปลอดภัยฯ กับของผู้ชำนาญการ ให้เป็นการประสานงาน อย่าประสานงาเป็นอันขาด มันจะยุ่งไปกันใหญ่
จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากฎหมายกำหนดคุณสมบัติผู้ชำนาญการ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข และ ประเภทกิจการ ขนาดของกิจการที่ต้องดำเนินการ ที่จะประกาศใช้นั้น จะมีเหตุมีผลและ sound
 
รศ.สราวุธ สุธรรมาสา
นายกสมาคม ส.อ.ป.
Visitors: 569,556