สตง.ตรวจพบโรงภาพยนตร์ทั้งหมดใน กทม.มีระบบป้องกันอัคคีภัยไม่ได้มาตรฐาน

โดย กทม.ได้รายงานต่อ สตง.ว่าโรงภาพยนต์จำนวน 330 โรง ที่ตั้งอยู่ในอาคาร 44 แห่ง หรือคิดเป็น 100% ของโรงภาพยนต์ที่เปิดบริการอยู่ใน กทม. ล้วนมีข้อบกพร่อง ไม่เป็นไปตามกฎหมายควบคุมอาคารที่กำหนดให้ต้องใช้วัสดุทนไฟและมีระบบป้องกันอัคคีภัยที่ได้มาตรฐาน เช่น ไม่ใช้บานประตูทนไฟ ไม่ติดตั้งหัวจ่ายน้ำดับเพลิงให้ครอบคลุมพื้นที่ ป้ายบอกทางเดินป้ายบอกทางหนีไฟ มองเห็นไม่ชัดเจน ไม่ครอบคลุมพื้นที่หรือไม่เป็นมาตรฐาน เป็นต้น (รายงานเมื่อ 31 มี.ค. 2560)

 140717 thairat

เรื่องนี้ถือเป็นอันตรายใกล้ตัวประชาชนที่น่าตกใจ เพราะถูกพบว่าเกิดขึ้นทั่วกรุงเทพมหานคร เมืองที่มีความเจริญและมีประชากรมากที่สุดในประเทศ เหตุนี้ทำให้ต้องเป็นห่วงยิ่งขึ้นอีกว่า บรรดาโรงภาพยนต์ทั้งเก่าและใหม่ที่เปิดให้บริการประชาชนอยู่ในต่างจังหวัดทั่วประเทศหลายพันแห่งนั้น จะมีการหลีกเลี่ยงกฎหมายและเป็นอันตรายต่อประชาชนมากกว่านี้หรือไม่

เราคงจำกันได้ถึงเหตุการณ์ไฟไหม้โรงภาพยนต์เมเจอร์ซินีเพล็กซ์ ปิ่นเกล้า เมื่อ 28 กรกฎาคม 2559 และล่าสุดกับข่าวไฟไหม้อพาร์ทเม้นท์สูง 24 ชั้น กลางกรุงลอนดอนเป็นเหตุให้มีคนตายร่วมร้อยศพ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครอยากเห็นความสูญเสียร้ายแรงเช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยของเรา

ปัญหานี้ “ผู้ประกอบการ” น่าจะรู้ดีว่า เป็นการเอาชีวิตของลูกค้าไปเสี่ยงเพื่อแลกกับกำไรที่มากขึ้น จากการละเมิดกฎหมาย ละเมิดกฎแห่งความปลอดภัย ที่อาจสร้างความเสียหายและเสื่อมเสียให้กับประเทศได้ แต่ที่ต้องตั้งคำถามกันชัดๆ ก็คือ “อะไรทำให้เจ้าหน้าที่ไม่รู้เห็น” ว่ามีการกระทำผิดตั้งแต่วันแรกที่เขาเปิดกิจการ “อะไรทำให้เจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลย” ไม่มีมาตรการแก้ไขป้องกันหรือลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และไม่ยอมดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเด็ดขาดกับเจ้าของอาคารที่เพิกเฉยไม่ยอมแก้ไขให้เป็นไปตามกฎหมาย

ในรายงานของ สตง.ไม่ได้กล่าวว่ามีการเอื้อประโยชน์หรือทุจริตประการใด แต่การทำหน้าที่ตรวจสอบและเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาให้สาธารณชนได้รับรู้เรื่องสำคัญเช่นนี้ของ สตง.ถือเป็นเรื่องน่าชื่นชมอย่างยิ่ง

หมายเหตุ : ภาพประกอบจากไทยรัฐ

Visitors: 585,767