ลิฟท์ส่งของร้านสงขลาตกคนงานเจ็บ1ราย

ลิฟท์ส่งของร้านสงขลาตกคนงานเจ็บ1ราย
ข่าวภูมิภาค วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2558 14:32น.


ลิฟท์ส่งของตึกสองชั้นตกลงมาด้านล่าง คนงานหญิงได้รับบาดเจ็บ 1 ราย เบื้องต้นตรวจสอบพบตะขอเกี่ยวตัวลิฟท์หลุด

เกิดอุบัติเหตุลิฟท์ส่งของภายในร้านบิ๊กบูม เลขที่ 66 ถนนรัถการ เขตเทศบาลนครหาดใหญ่ ซึ่งเป็นอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น ตกลงมาจากชั้น 2 ความสูงประมาณ 3 เมตร ทำให้ นางสาวแตซียะ หมัดหลี อายุ 18 ปี คนงานที่กำลังขึ้นไปจัดของ ร่วงลงมาพร้อมกับลิฟท์ได้รับบาดเจ็บจากแรงกระแทก ขาซ้ายมีบาดแผล ศรีษะบวม และมีรอยฟกช้ำตามร่างกายหลายแห่ง

เจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิมิตรภาพสามัคคี ได้เข้าช่วยเหลือปฐมพยาบาลและรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลหาดใหญ่ ส่วนสาเหตุที่ทำให้ลิฟท์ตกลงมาพบว่าตัวลิฟท์ซึ่งเป็นโครงสร้างเหล็กได้หลุดออกจากตะขอเกี่ยวสลิง

นายชวลิต ดีไชยเศรษฐ เจ้าของร้าน เผยว่า ลิฟท์ตัวนี้ใช้งานมา 5 เดือนและรับน้ำหนักได้ 1,000 กิโลกรัม แต่ไม่ทราบว่า ตัวลิฟท์หลุดจากตะขอเกี่ยวได้อย่างไร จะเร่งติดต่อผู้รับเหมาที่ก่อสร้างลิฟท์มาตรวจสอบหาสาเหตุอีกครั้งหนึ่ง ส่วนคนงานหญิงที่บาดเจ็บจะให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่

  

สมมุติฐาน สาเหตุที่ลิฟต์ร่วงลงมาจากชั้น 2 คาดว่าเกิดจากลูกจ้างยืนบนลิฟต์ ด้านตรงข้ามตะขอ ทำให้ตัวลิฟต์เกิดการเอียง และหูหิ้วลิฟต์เลื่อนหลุดจากตะขอ เนื่องจากอุปกรณ์ล็อคตะขอชำรุด เป็นเหตุให้ลูกจ้างและลิฟต์ ตกลงมาบริเวณพื้นชั้น 1 และลูกจ้างได้รับบาดเจ็บดังกล่าว


มาตรการป้องกันอุบัติเหตุ ในลักษณะนี้อีก...นอกจากการปฏิบัติตามกฏหมายเรื่องลิฟต์ข้างต้น
1.เริ่มตั้งแต่การออกแบบ ควรจัดให้มีโครงปล่องลิฟต์ ตลอดระยะการเคลื่อนที่ของตัวลิฟต์ โดยเป็นลักษณะตะแกรงเพื่อกันวัสดุร่วงหล่น
2.จัดทำประตูลิฟต์ 2 ชั้น คือ ชั้นตัวลิฟต์ และประตูด้านนอก...และควรออกแบบให้มีระบบป้องกันอันตราย โดยลิฟต์จะไม่เคลื่อนที่ หากประตูลิฟต์ทั้งสองชั้น ไม่ปิดสนิท
ประตูลิฟต์ด้านนอก ต้องปิดสนิท ขณะมีการใช้งานลิฟต์ เพื่อป้องกันบุคคลอื่นไปยืนใต้ลิฟต์ และถูกลิฟต์ทับ
3. ติดป้ายบอกพิกัดน้ำหนักยก ป้ายห้ามโดยสาร และสัญลักษณ์เตือนอันตราย อื่นๆ มีสัณญานเสียงหรือแสง ขณะมีการใช้งานลิฟต์
4.ติดวิธีการทำงานเกี่ยวกับการใช้ลิฟต์
5.มีตรวจสอบสภาพลิฟต์ก่อนการใช้งานทุกวัน อุปกรณ์ต่าง ๆ ต้องไม่ชำรุด มีอุปกรณ์สำหรับล็อคตะขอ ป้องกันการเลื่อนหลุด หากพบว่าชำรุด ต้องเปลี่ยนหรือซ่อมแซมก่อนการใช้งาน
6. มีการตรวจสอบและทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของลิฟต์โดยวิศวกร อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

หมายเหตุ...เป็นเพียงการตั้งสมมุติฐานลักษณะของการเกิดอุบัติเหตุ และจัดทำมาตรการป้องกันโดยองค์รวม ส่วนสาเหตุที่แท้จริง ต้องได้จากการสอบสวนและวิเคราะห์อุบัติเหตุ
จากสถานที่จริง และการสอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

โปรดใช้วิจารณญาน ในการรับข้อมูล ทั้งนี้หวังว่าจะเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างต่อไป

Visitors: 569,749