การบริหารและการจัดการความปลอดภัย
สวัสดีครับ
ผมขอนำบทความดีดีจากท่านอาจารย์ สวินทร์ พงษ์เก่า ที่ท่านได้เขียนบทความไว้น่าอ่านน่าศึกษาครับ
กฎความปลอดภัย และวิธีนำไปสู่การปฎิบัติ
อ. สวินทร์ พงษ์เก่า นักวิชาการความปลอดภัย จิตอาสา
ในการบริหารงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ให้บรรลุตามเป้าหมาย โดยหลักที่ ใช้กันอยู่ เรา ใช้หลัก 3 ประการ ( 3E ) คือ
- การควบคุมทางวิศวกรรม (Engineering )
- การให้การศึกษา การให้ความรู้ การสอนงาน (Education )
- การควบคุมโดยใช้กฎความปลอดภัยที่เหมาะสม ( Enforcement)
การที่แต่ละองค์กร จะออกกฎความปลอดภัยเพื่อใช้ในการควบคุม การทำงานของผู้ปฎิบัติงานนั้น จะต้องดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน และสอดคล้องกับความเสี่ยงขององค์กร เพราะถ้ามีมากเกินไป จะทำให้ เกิดการต่อต้านกฎได้ แต่หากไม่มีการออกกฎใดๆเลย ก็อาจทำให้เกิดความหละหลวนในการควบคุมความเสี่ยง ปัญหาของการใช้กฎเพื่อควบคุมการกระทำที่ไม่ปลอดภัย อยู่ที่จะทำอย่างไรจึงจะมีการใช้กฎอย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพสูงสุด จะมีกฎเรื่องใดบ้างที่จะนำมาใช้ในการควบคุมความสูญเสีย และจะบริหารกฎความปลอดภัยดังกล่าวได้อย่างไร
ปัจจัย 3 ประการ เพื่อการพัฒนากฎความปลอดภัยที่เหมาะสม
- ความจำเป็นในการออกกฎ
- ระบบในการจัดการเกี่ยวกับการออกกฎ การนำกฎไปสู่การปฎิบัติ การปรับปรุงกฎให้เหมาะสมกับสถานการ
- การยอมรับของผู้ที่ต้องปฎิบัติตามกฎ ถึงความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องมีกฎความปลอดภัย
สาเหตุที่ผู้ปฏิบัติงานไม่ปฏิบัติตามกฎความปลอดภัย
- เขาไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาทำไปเป็นการฝ่าฝืนกฎ
- เขาไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้สอดคล้องกับกฎที่องค์กรกำหนดขึ้น
- เขาไม่รู้เหตุผลที่แท้จริงว่าทำไมต้องมีกฎและต้องทำตามกฎ
- ขาดการสื่อสารกฎอย่างมีประสิทธิภาพ จากผู้บริหารและหัวหน้างาน
- เขาเห็นว่ามีวิธีการที่ดีและเหมาะสมกว่า การใช้กฎมาควบคุมความเสี่ยง
- ขาดแรงจูงใจในการปฎิบัติตามกฎอย่างเหมาะสม
ในการจัดทำกฎความปลอดภัยจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะนำปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นในการบริหารจัดการนะบบกฎความปลอดภัยที่เหมาะสม และควบคุมการปฎิบัติอย่างต่อเนื่อง
ประเภทของกฎความปลอดภัย
กฎความปลอดภัย แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
- กฎความปลอดภัยทั่วไป จะเป็นกฎที่นำมาใช้กับทุกคนที่เข้ามาในพื้นที่ขององค์กร
- กฎความปลอดภัยเฉพาะงาน/พื้นที่ จะใช้เฉพาะกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องตามที่กำหนด โดยแยกเป็นกฎเฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะพื้นที่ ซึ่งการนำกฎมาใช้งานจะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม โดยพิจารณาว่ากฎจะนำมาใช้กับใคร และจะให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจในการใช้กฎได้อย่างไร
กฎความปลอดภัยทั่วไป ( General Safety Rules) (ตัวอย่าง)
1. ให้ปฏิบัติงานตามขั้นตอนการปฏิบัติงาน อย่างเคร่งครัด
- รายงานหัวหน้างานให้ทราบทันที เมื่อเห็นสถานการณ์ หรือการปฏิบัติงานใด ๆ ที่ไม่ปลอดภัย อันอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บกับตนเองและผู้อื่น หรือเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน กระบวนการผลิตและสิ่งแวดล้อม
- ให้เลือกใช้เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ ให้มีความเหมาะสมกับลักษณะงาน และอยู่ในสถานที่ปลอดภัยก่อนที่นำมาใช้งานทุกครั้ง
- การใช้ ปรับแต่ง เปลี่ยนแปลง หรือบำรุงรักษาอุปกรณ์ ต้องกระทำโดยผู้ที่มีหน้าที่เท่านั้น
- ให้สวมใส่ อุปกรณ์คุมครองความปลอดภัยส่วนบุคคล ตลอดระยะเวลาที่มีการปฏิบัติหน้าที่ มีความเสี่ยงอันอาจก่อให้เกิดการเกิดอุบัติเหตุ และบำรุงรักษาอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยบุคคล ให้อยู่ในสภาพที่ดี และพร้อมใช้งานอยู่เสมอ
- ห้ามเล่น หยอกล้อกันในขณะปฏิบัติงานอยู่
- ให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบ คำเตือน เครื่องหมาย ป้ายต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด
กฎความปลอดภัยเฉพาะงาน /พื้นที่ จะนำมาใช้กับ
- อาชีพ ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ช่างไฟฟ้า พนักงานบำรุงรักษา เป็นต้น
- พื้นที่ปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงสูง เช่น พื้นที่อับอากาศ พื้นที่ที่มีการใช้แผ่รังสี ก่อไอออน เป็นต้น
- งานที่มีความเสี่ยงสูง เช่น งานทำความสะอาดถังน้ำมัน งานเชื่อมไฟฟ้า เป็น
กฎความปลอดภัยในการทำงานในพื้นที่อับอากาศ
(ตัวอย่าง)
1. ให้ปฏิบัติงานตามขั้นตอนการปฏิบัติงาน อย่างเคร่งครัด
- รายงานหัวหน้างานให้ทราบทันที เมื่อเห็นสถานการณ์ หรือการปฏิบัติงานใด ๆ ที่ไม่ปลอดภัย อันอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บกับตนเองและผู้อื่น
- ต้องได้รับอนุญาต จากผู้อนุญาตที่ได้รับการแต่งตั้ง ก่อนเข้าไปทำงานในที่อับอากาศและปฎิบัติ ตามรายละเอียดที่ระบุใน ใบ confine space permit อย่างเคร่งครัด
- ไม่ทำงาน Hot work ยกเว้นที่การปฎิบัติ ตาม ระบบการทำงาน Hot work อย่างเคร่งครัด
- ให้สวมใส่ อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ตลอดระยะเวลาที่มีการปฏิบัติหน้าที่ มีความเสี่ยงอันอาจก่อให้เกิดการเกิดอุบัติเหตุ และบำรุงรักษาอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลให้อยู่ในสภาพที่ดี และพร้อมใช้งานอยู่เสมอ
- ห้ามเล่น หยอกล้อกันในขณะปฏิบัติงานอยู่
- ให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบ คำเตือน เครื่องหมาย ป้ายต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด
วิธีการนำกฎความปลอดภัยไปสู่การปฎิบัติ
การบริหารจัดการกฎความปลอดภัยให้มีประสิทธิผล มีแนวทางปฎิบัติ 4 ขั้นตอน ดังนี้
1. ขั้นตอนการเตรียมการออกกฎ
2. ขั้นตอนการนำเสนอกฎ
3. ขั้นตอนการควบคุมให้เป็นไปตามกฎ
4. ขั้นตอนการส่งเสริมให้มีการปฎิบัติตามกฎ
1. ขั้นตอนการเตรียมการออกกฎ
ในการออกกฎใดๆขึ้นมาใช้ในองค์กร ย่อมส่งผลกระทบกับผู้ปฎิบัตงานเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการออกกฎจึงควรพิจารณาดังนี้
- ใช้หลักการมีส่วนร่วมหลักการมีส่วนร่วม ให้ผู้มีผลกระทบกับการใช้กฎ ได้มีส่วนร่วมในการออกกฎ เช่น มีช่องทางในการเสนอแนวทาง และให้ความเห็น ถึงความเหมาะสมของกฎและความเหมาะสมในการนำไปใช้ มีการนำการเสนอแนะ จากผู้มีผลกระทบกับการใช้กฎ ไปพิจารณาอย่างจริงจัง
- ใช้หลัก เริ่มแต่น้อย ค่อยเป็นค่อยไป
อย่าออกกฎ ควบคุม กับทุกเรื่อง การออกกฎในระยะแรกควรมุ่งไปที่จุดที่ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างรุนแรงก่อน (Major loss) และ เป็น งาน/พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงเป็น ( High risk task / area)
- ใช้กฎ “ KISS ” “ Keep it short and simple “
ไม่ควรใช้ภาษาที่ เข้าใจยาก มีรายละเอียดที่ซับซ้อน ความหมายกำกวม ให้ยึดหลักการออกกฎ สั้นแต่ง่ายชัดเจนและนำไปสู่การปฎิบัติได้โดยไม่ต้องตีความ
- ออกกฎที่สามารถปฎิบัติได้ และเป็นไปได้ที่จะเกิดความสำเร็จในการใช้กฎเพื่อควบคุมความเสี่ยง
- กำหนดวัตถุประสงค์ของการออกกฎให้ชัดเจน
- มีการทบทวนกฎเป็นระยะ
2. ขั้นตอนการนำเสนอ เพื่อการสื่อสารความเข้าใจในกฎให้เป็นไปในแนวเดียวกัน
- แจกจ่ายกฎยังผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องทุกคน
ต้องมีการแจกจ่ายกฎความปลอดภัยไปยังผู้ปฎิบัติงาน ในพื้นที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฎและควรมีการสอบถามความเห็น จดบันทึกความเห็นเหล่านั้น เพื่อเป็นข้อมูลในการหาข้อสรุปร่วมกัน
- แสดงสาธิตให้เห็นและอธิบายให้ชัดเจน (Show and tell)
เพื่อกระตุ้นความสนใจ และเพื่อเพิ่มความเข้าใจ มีการอธิบายให้ชัดเจนว่า กฎแต่ละข้อมีความหมายอย่างไร ปฎิบัติได้อย่างไร มีความสำคัญอย่างไร นอกจากนั้นยังจะใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องสาธิตร่วมด้วย หรือจะใช้ ภาพถ่าย สไลด์ แผ่นใส ฯ ร่วมด้วยจะเป็นการเพิ่มความชัดเจนมากขึ้น โดยต้องเน้นการสื่อสาร 2 ทาง
- ทดสอบความเข้าใจในกฎ
ทดสอบว่าผู้ปฏิบัติงานได้เข้าใจ เกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎมากน้อยเพียงใด และถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของการมีกฎหรือไม่ จัดทำแบบทดสอบความเข้าใจ ซึ่งการทดสอบความเข้าใจกฎ สามารถทำได้ทั้งข้อเขียน และปากเปล่า ควรนำผลของการทดสอบมาอภิปรายแลกเปลี่ยนเพื่อความเข้าใจมากขึ้น สุดท้ายควรสรุปผลการนำเสนอเกี่ยวกับกฎอีกครั้ง
3. ขั้นตอนการควบคุมให้เป็นไปตามกฎ
การบังคับให้ปฏิบัติตามกฎ เป็นการควบคุมการจัดการในการทำงาน
- การตรวจวัดสถานะภาพ (Measuring performance )
- การประเมินผลการนำไปปฏิบัติ ( Evaluating compliance)
- การเสนอแนะและแก้ไข (พฤติกรรม) ( Commendation and correction behaviors)
การควบคุมให้เกิดการปฎิบัติ จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม มีการสื่อสารเกี่ยวกับกฎ , วัตถุประสงค์ของการมีกฎ , นโยบายและขั้นตอนกับผู้ปฎิบัติงานให้ทราบอย่างชัดเจน ควรมีการเก็บข้อมูลและบันทึกข้อมูล เช่น
- ข้อมูล การถกอภิปรายเกี่ยวกับกฎ ป้ายห้ามที่เลือกโดยผู้ปฏิบัติงาน ข้อมูลแสดงการรับทราบกฎ ความเข้าใจ และประเด็นถกเถียง
- ข้อมูลเกี่ยวกับการอภิปรายโดยกลุ่ม ข้อมูลการประชุม
- ข้อมูลเกี่ยวกับการทบทวนกฎและการอบรมซ้ำ
- ข้อมูลตัวบุคคลที่ฝ่าฝืนกฎ
- ข้อมูลเกี่ยวกับการชมเชย ที่ทำกับกลุ่มหรือรายบุคคล
4. ขั้นตอนการส่งเสริมให้มีการปฎิบัติตามกฎ
การสนับสนุนให้ปฏิบัติตามกฎ เป็นการส่งเสริมทางบวกที่จะสร้างการยอมรับการปฏิบัติตามกฎมากขึ้น ซึ่งอาจกระทำเป็นรายบุคคล หรือกลุ่ม สามารถดำเนินการได้ดังนี้
อภิปรายในที่ประชุมกลุ่ม
การชี้แจ้งแบบรายบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกฎนั้นๆ
การใช้ การสื่อสารประชาสัมพันธ์ ในรูปแบบต่างๆ เช่น โปสเตอร์ line เป็นต้น
การแข่งขันและการให้รางวัล เพื่อให้เกิดความภูมิใจ
การทบทวนอย่างเป็นทางการเป็นระยะเพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุง
หากองค์กร ได้มีการบริหารจัดการ กฎความปลอดภัยเป็นระบบ อย่างเหมาะสมแล้ว และผู้บริหาร มีวิสัยทัศน์ สู่ความเป็นศูนย์ ( Vision zero) ซึ่ง เป็น แนว การสร้างวัฒนธรรมการป้องกัน ( Prevention culture ) เชื่อมโยงด้วย การสื่อสารที่ชัดเจน และได้รับการยอมรับ จาก ผู้ปฎิบัติงาน ทุกคน อย่างเหมาะสม ก็จะทำองค์กรสามารถ ควบคุมความเสี่ยง และลดความสูญเสีย ที่อาจจะเกิดขึ้น ได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ต่อไป
ที่มาข้อมูลดีดีจาก
อ. สวิน พงษ์เก่า