8 เทคนิคการพรีเซนต์หน้าห้องดึงคนฟัง

8 เทคนิคการพรีเซนต์หน้าห้องดึงคนฟัง
TAGS : การพรีเซนต์หน้าห้อง

8 เทคนิคการพรีเซนต์หน้าห้องดึงคนฟัง

1. ผู้ฟังเป็นใคร รู้ยัง ?
หากเราพูดในห้อง คนฟังก็คือเพื่อนๆ ของเรา แต่ถ้ามีโอกาสไปพูดที่อื่น การวิเคราะห์คนฟังเป็นเรื่องจำเป็นมากๆ เลยนะ ถ้าเรารู้ว่าผู้ฟังเป็นใคร เราจะเลือกวิธีมาสื่อสารได้อย่างถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าออกมาพูดปากเปล่าเฉยๆ ผู้ฟังมีแค่เพื่อน อาจจะเน้นความสนุกสนานได้ แต่พอพรีเซนต์งาน ต้องเรียกคะแนนจากอาจารย์ จะเฮฮาบ้าบออย่างเดียวไม่ได้ค่ะ ต้องมีเทคนิคสะกดจิตให้อาจารย์หันมาสนใจในสิ่งที่เรากำลังพูด

อริสโตเติล นักปรัชญาชาวกรีก เคยบอกไว้ว่า "เมื่อคิด ให้คิดอย่างนักปราชญ์ เมื่อพูด ให้พูดอย่างสามัญ" หรือแปลได้ว่า พูดสิ่งที่คนทั่วไปอยากฟัง แล้วเรื่องจะน่าสนใจเอง

2. เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
ขอหยิบเอาวาทะระดับโลกอีกสักคนมาฝากนะคะ เดล คาร์เนกี้ นักพูดชื่อดังระดับโลกเคยบอกไว้ว่า "ประโยคแรกของเธอต้องตรึงความสนใจของผู้ฟังให้อยู่ ไม่ใช่ประโยคที่สอง และไม่ใช่ประโยคที่สาม แต่ต้องเป็นประโยคแรกเท่านั้น

ประโยคแรกที่น้องๆ จะเรียกคนฟังให้สนใจได้ ก็มีอยู่หลายวิธีนะคะ เช่น ใช้ประโยคที่ตื่นเต้น, เริ่มต้นด้วยการถามคำถาม เพื่อให้คนฟังได้คิดตาม, เริ่มต้นด้วยการเล่นเกมเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้คนฟังสงสัยว่าเราจะทำอะไรต่อไป, สร้างบรรยากาศด้วยภาษาที่สวยงาม จะมาเป็นกลอนหรือถ้อยคำสวยๆ ก็ได้ และสุดท้ายสวมบทบาทพระเอกนางเอกประหนึ่งเล่นละครไปเลย (กำลังคิดอยู่ว่า พี่เปรมสุดา ฝนฟ้าอากาศ ช่อง 7 ก็ได้อยู่นะ^^)

3. ขยันเล่าเรื่องและยกตัวอย่าง
การเล่าเรื่องและยกตัวอย่าง เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ที่ทำให้การพูดของเราน่าสนใจค่ะ ดีกว่าการพูดไปเรื่อยๆ คนจะฟังก็ช่าง ไม่ฟังก็ช่าง เพราะพอเริ่มต้นได้น่าเบื่อ ตอนกลางยังน่าเบื่ออีก ไม่มีใครสนใจเราแล้วค่ะ นอกจากนี้ยังมีทริคเล็กๆ ไว้ใช้ตอนเล่าเรื่องให้น่าสนใจ

3.1 เล่าจากประสบการณ์ตรงของตัวเอง
3.2 ลงรายละเอียด้วยการใส่เวลา ตัวละคร สถานที่ เรื่องที่เกิด และบทสรุป
3.3 เสนอความคิดเห็นที่คนฟังหยิบไปใช้ได้จริง
3.4 กุญแจแห่งความสำเร็จอยู่ที่น้ำเสียงต้องสื่ออารมณ์

4. ตำแหน่งยืนมีผลนะเออ
หลายคนเวลาไปพูดหน้าชั้น จะมี Power point ไปเป็นตัวช่วยในการนำเสนอ บางคนพาวเวอร์พ้อยเปรียบเสมือนสคริปท์อ่านพรีเซนต์เลยทีเดียว ตำแหน่งที่น้องๆ ยืนในการพูดมีผลต่อการฟังของคนฟังนะคะ ซึ่งข้อห้ามมีดังนี้

4.1 ไม่ควรยืนตรงหน้าผู้ฟัง หากสไลด์กับตัวคนอยู่ห่างกันมากๆ คนฟังจะไม่รู้ว่าต้องมองคนพูดหรือมองสไลด์ดี
4.2 ไม่ควรอ่านตามสไลด์หรือยืนขวางสไลด์ พูดง่ายๆ ว่าการยืนขวางสไลด์มันเกะกะนั่นเอง ยิ่งบางห้องต้องยิงจากเครื่องฉายมา หากยืนขวางจะยิงไปที่ตัวคนพูดแทน ที่สำคัญเราไม่ควรยืนอ่านตามสไลด์ค่ะ จำไว้ว่าเนื้อหาในสไลด์นั้นมีไว้ให้คนฟังดู ไม่ใช่ให้คนพูดอ่าน ถ้าอ่านตามสไลด์เป๊ะๆ ไม่ต้องมาพูดก็ได้นะคะ
4.3 พูดไปจิ้มคอมพิวเตอร์ไป ในกรณีที่ต้องพรีเซนต์คนเดียว ต้องทำคนเดียวทุกอย่าง ต้องแบ่งจังหวะให้ดีค่ะ อย่ามัวแต่ก้มพูดเพราะกดสไลด์เลย เพราะถ้าตัวคนพูดไม่อยู่นิ่งๆ ความสนใจของคนฟังก็จะตามคนพูดไปด้วย กลายเป็นว่าไม่ได้ฟัง แล้วก็ไม่ได้ดูด้วย ฉะนั้นอย่าสนใจสไลด์มากเกินไป ใช้รีโมทหรือให้คนอื่นมาช่วยแทน ตัวเองจะได้มีสมาธิอยู่กับสิ่งที่จะพูดค่ะ

5. ใช้ท่ามือหรือน้ำเสียงดึงความสนใจ
เวลารายงานวิชาการ หากอยู่ๆ พูดไปว่า "ตรงนี้สำคัญนะ ออกสอบแน่ๆ" รับรองว่าเพื่อนๆ ในห้องหูผึ่ง เตรียมจดแน่นอน ดังนั้นการใช้น้ำเสียงหรือใช้ท่าทางมือประกอบการพูดไปด้วย จะทำให้น่าสนใจและคนฟังจดจำได้แม่นยำขึ้นด้วย แต่ทั้งนี้ก็อย่าใช้จนเกินพอดี ไม่งั้นจะกลายเป็นดูน่ารำคาญแทนค่ะ

6. อย่าหลงตัวเอง
การพูดทุกประเภท ผู้ฟังมักจะอยากได้สาระ สิ่งที่เป็นประโยชน์จากตัวนักพูด แต่ถ้านักพูดมัวแต่พูดถึงเรื่องของตัวเองไม่จบไม่สิ้น ยิ่งคุยโว้โอ้อวดด้วยแล้ว จะยิ่งทำให้คนฟังเบื่อและรู้สึกว่าสิ่งที่พูดนั้นไม่มีประโยชน์และไม่น่าสนใจ ยกเว้นการพูดในแง่ของประสบการณ์ความล้มเหลว ที่นำมาเป็นข้อคิดได้ เรื่องเหล่านี้จะดึงดูดความสนใจได้มากกว่าค่ะ ดังนั้นการพูดที่ดี พูดถึงเรื่องตัวเองได้ แต่ต้องไม่ใช่การพูดในเชิงหลงตัวเอง ชมตัวเอง เพราะจะกลายเป็นการดูถูกผู้ฟังด้วย

7. สังเกตผู้ฟังตลอดเวลา ใครทำอะไรบ้าง
การสังเกตผู้ฟัง เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการพูดค่ะ คนพูดเก่งๆ จะมีวิธีปรับวิธีการพูดไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นน้องๆ เมื่อก้าวมาอยู่หน้าห้อง จุดที่สามารถมองเห็นเพื่อนทั้งห้องได้ ต้องหัดรู้จักสังเกตอาการเพื่อนตอนเราพูดค่ะว่าทำอะไรกันบ้าง บางคนอาจจะมองว่าดีแล้วที่เพื่อนไม่ฟัง แต่ในอนาคตมันจะเป็นผลเสียต่อตัวเราเองนะ

หากพูดๆ อยู่ แล้วเพื่อนเริ่มคุยกัน นั่งเล่นมือถือ นั่งหลับ ต้องรีบเปลี่ยนวิธีการพูดค่ะ เช่น จะอธิบายให้เร็วขึ้นไป จะยกตัวอย่างเพิ่มขึ้นมั้ย หรือ จะมีช่วงหยุดเว้นจังหวะให้ห้องเกิดความเงียบ หากมีเวลามากพอ อาจให้เพื่อนตอบปัญหาหรือหาเกมให้เล่นก็ได้ เพื่อดึงความสนใจกลับมาค่ะ

8. หลัก 3S
ปิดท้าย การพูดให้มีเสน่ห์ ต้องยึดหลัก 3S ตามนี้ค่ะ
8.1 Simple เรียบง่าย ใช้ภาษาง่ายๆ อธิบายเนื้อหาอย่างชัดเจนและเชี่ยวชาญ
8.2 Speed จังหวะ พูดให้มีจังหวะ ใช้น้ำเสียงให้มีชีวิตชีวา ไม่ใช่มาอ่านให้คนฟัง
8.3 Self-confident เชื่อมั่นในตัวเอง ก่อนจะทำให้คนอื่นประทับใจ ต้องทำให้ตัวเองประทับใจให้ได้ก่อน


ขอบคุณข้อมูล Together on Campus by True

Visitors: 568,694