6 ข้อคิด เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย

6 ข้อคิด เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย

การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย ให้ได้ชื่อว่าเป็นองค์กรที่ดำเนินการเรื่องความปลอดภัยทั่วถึงไปในทุกๆ จุดขององค์กรแล้ว ต้องอาศัยผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ มีผู้รับผิดชอบด้านความปลอดภัยที่มีความสามารถในการที่จะทำให้พนักงานปฏิบัติตัวอย่างปลอดภัยตลอดเวลาที่ปฏิบัติงานได้ ข้อคิดต่างๆ ต่อไปนี้ อาจช่วยให้คุณสามารถนำแนวคิดนี้ไปใช้ในสถานที่ปฏิบัติงานของคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพได้

1) เชิงรุก กับ เชิงรับ

 

 ในกรณีที่การตอบสนองต่อเรื่องความปลอดภัยของบริษัทหนึ่งๆ จะเป็นไปตามการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งและไม่มีมาตรการป้องกันเชิงรุกนั้น ก็เป็นที่แน่นอนว่าการบาดเจ็บจะยังคงมีขึ้นเรื่อยๆ และบริษัทนี้ก็จะไม่มีวันประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน ขอให้เรานึกถึง “ปิรามิดอุบัติเหตุ” ที่คนในวงการความปลอดภัยคุ้นเคยกันดี หรือลองนึกถึงภาพภูเขาน้ำแข็งใต้น้ำที่หลายๆ คนเคยเห็นในการเรียนการสอนด้านความปลอดภัย เมื่อการบาดเจ็บหนึ่งๆ เกิดขึ้นมานั้น สิ่งที่อยู่รายล้อมการบาดเจ็บนั้นๆ ก็คือ การกระทำที่ไม่ปลอดภัยและ/หรือเหตุการณ์ที่ไม่ปลอดภัยอีกกว่า 30 เหตุการณ์ซึ่งได้เกิดขึ้นเป็นปัจจัยประกอบนำไปสู่การบาดเจ็บนั้นๆ ดังนั้น มาตรการเชิงรุกที่กล่าวถึงการปฏิบัติของบุคคลในทุกระดับที่อยู่ส่วนฐานล่างสุดของปิรามิด/ภูเขาน้ำแข็งดังกล่าวเท่านั้นที่จะสามารถช่วยทำให้องค์กรของคุณมีผลการดำเนินการด้านความปลอดภัยที่พัฒนาดีขึ้นอย่างชัดเจนได้

 

2) การแสดงความยอมรับ กับ การจูงใจ

 

 ในปัจจุบัน ก็ยังคงมีการโต้แย้งกันอย่างต่อเนื่องว่าการให้รางวัลจูงใจแก่พนักงานนั้นควรนำมาใช้ในแผนการด้านความปลอดภัยของบริษัทหรือไม่ การบาดเจ็บหนึ่งๆ สามารถส่งผลกระทบเชิงลบต่อชีวิตของพนักงานได้โดยมีมูลค่ามหาศาล ถ้าหากว่าพนักงานคนหนึ่งไม่ต้องการให้ตนเองได้รับความปลอดภัยเพื่อคุณภาพของชีวิตของตัวเค้าเองนั้น การให้แรงจูงใจเป็นตัวเงินเล็กๆ น้อยๆ หรือการให้รางวัลใดๆ แก่พนักงานคนนี้ก็ไม่น่าจะทำให้เขาหันมาให้ความสนใจในเรื่องความปลอดภัยได้ หากจะเพิ่มรางวัลมากขึ้นๆ บริษัทก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากและในท้ายที่สุดบรรดาพนักงานก็จะมองอยู่ดีว่า “มันเป็นสิทธิของพวกเขา” อยู่ดี ดังนั้นแนะนำให้สร้างแรงจูงใจในระดับหนึ่งเท่านั้น เช่น การให้รางวัลแก่ผู้ที่กระทำความสำเร็จตามเป้าหมายหนึ่งๆ ที่อาจเป็นความสำเร็จที่บรรลุผลสำเร็จได้ง่ายโดยการทำงานอย่างถูกต้องและปลอดภัย 

และแนะนำให้ทำการแสดงความชื่นชมที่พนักงานมีการปฏิบัติงานหนึ่งๆ ได้สำเร็จด้วยดีและการแสดงความยอมรับนี้จะต้องอยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาที่วัดผลได้ มิใช่โชคช่วย กล่าวโดยสรุปก็คือ การแสดงความยอมรับ ชื่นชมนี้ให้เน้นไปที่การปฏิบัติงานที่ปลอดภัย มากกว่าการเน้นไปที่ “การไม่ได้รับบาดเจ็บใด” นั่นเอง 

การแสดงความยอมรับนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายวิธีการด้วยกัน ดังนั้น ผู้ดำเนินการเรื่องนี้จะต้องดำเนินการโดยให้พนักงานไม่รู้สึกว่า “ตนเองมีสิทธิ” ที่จะได้สิ่งนั้นจนกลายเป็นความเคยชิน นอกจากนี้ การแสดงความยอมรับนี้ยังช่วยทำให้พนักงานมีผลการปฏิบัติงานที่ดีที่สุดในการทำงานของตนอย่างถูกต้อง มิใช่การส่งเสริมให้พนักงานมีผลการปฏิบัติงานที่มากที่สุดอันอาจทำให้พนักงานใช้ทางลัดหรือยอมเสี่ยงในระหว่างการทำงานของตนได้

3) ค่านิยม กับ การจัดลำดับความสำคัญ

บริษัทของคุณได้มีการกล่าวถึงค่านิยมไว้ในข้อความแสดงพันธกิจของบริษัทหรือไม่? ค่านิยมดังกล่าวมีผลกระทบต่อวิธีการดำเนินธุรกิจของบริษัทของคุณหรือไม่? ถ้าหากว่ามีการระบุถึงค่านิยมดังกล่าว การดำเนินธุรกิจทั้งหมดก็จะต้องดำเนินไปภายใต้ความคาดหวังของค่านิยมเหล่านั้น ไม่มีการประนีประนอมใดๆ และผลการปฏิบัติงานของพนักงานตามค่านิยมดังกล่าวก็จะต้องเห็นได้อย่างชัดเจนด้วย สิ่งใดๆ ที่ผิดไปจากค่านิยมของบริษัทนี้ก็ควรจะต้องมีการแจ้งให้พนักงานทราบว่าการกระทำดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับหรือเลิกจ้างไปเลยขึ้นอยู่กับว่าการกระทำที่ผิดไปดังกล่าวนั้นมีผลกระทบเกิดขึ้นรุนแรงมากน้อยเพียงใด 

ลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ จะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเมื่อสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ถ้าหากว่าคุณเคยทำรายการ “สิ่งที่ต้องทำ” สำหรับแต่ละวันและคุณไม่สามารถทำตามลำดับงานที่คุณเขียนไว้ได้เนื่องจากมีงานอื่นๆ แทรกเข้ามาเร่งด่วนนั้น คุณก็คงจะทราบดีว่าลำดับความสำคัญในงานของคุณก็จะเปลี่ยนแปลงไปทันที ถ้าความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งนั้น เรื่องความปลอดภัยก็อาจหลุดความสำคัญไปได้เช่นกันเมื่อมีแรงกดดันที่จะต้องมีการผลิตสินค้าให้เสร็จตามกำหนดการเข้ามากดดันแทน อุปกรณ์สำคัญชิ้นหนึ่งของเครื่องจักรมีการติดขัดและการผลิตสะดุดไป พนักงานจะต้องทำการล็อกเครื่องจักรนั้นไว้ก่อนที่จะเริ่มทำการซ่อมแซมเครื่องจักรดังกล่าว แต่ในระเบียบปฏิบัติการปิดล็อคเครื่องจักรพบว่าจะต้องใช้เวลามากกว่า 30 วินาทีในการนำสิ่งกีดขวางออกมา คำถามก็คือคุณจะบอกพนักงานคนนี้ให้ทำอะไร? คำตอบจะขึ้นอยู่กับว่าการปฏิบัติงานอย่างปลอดภัยของพนักงานเป็นค่านิยมของบริษัทหรือไม่ หรือการปฏิบัติงานอย่างรวดเร็วของพนักงานเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรก 

ความปลอดภัยนั้นจะต้องเป็นหนึ่งในค่านิยมหลายๆ ประการที่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีการยกเว้น และไม่มีการประนีประนอมเด็ดขาด ธุรกิจจะดำเนินไปไม่ได้จนกว่าจะมีการกำหนดให้ความปลอดภัยเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของการดำเนินธุรกิจของบริษัทนั้นๆ ความปลอดภัยมิได้เป็นเพียงส่วนประกอบเล็กๆ ในบริษัทเท่านั้น หากแต่ความปลอดภัยถือเป็นหนึ่งในส่วนประกอบหลักที่จะทำให้เกิดความสำเร็จของบริษัทได้ซึ่งความปลอดภัยมีความสำคัญเช่นเดียวกับเรื่องการบริการลูกค้าและเรื่องคุณภาพผลิตภัณฑ์นั่นเอง และเมื่อคุณเอาเรื่องใดเรื่องหนึ่งเหล่านี้ออกไป ผลผลิตสุดท้ายที่คุณจะได้ออกมาก็จะไม่มีทางสมบูรณ์แบบตามที่ต้องการได้ หรือไม่คุณก็อาจจะได้ผลลัพธ์ออกมาจริง แต่ไม่เป็นไปตามที่คุณต้องการหรอก เมื่อดำเนินธุรกิจไม่มีส่วนประกอบที่จำเป็นทั้งหมดในปริมาณสัดส่วนที่เหมาะสมนั้น ธุรกิจของคุณไม่มีวันที่จะได้รับผลกำไรอย่างต่อเนื่องยาวนานได้ และหนึ่งในส่วนประกอบที่สำคัญเหล่านี้ก็คือ “ความปลอดภัย” นั่นเอง

 

4) ความร่วมมือของทีมงาน กับ พฤติกรรมสมาธิไม่อยู่กับตัว 

ความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้ บุคคลหนึ่งๆ ก็ไม่ใช่สิ่งที่สามารถมองข้ามไปได้เช่นกัน แต่ละคนและทีมงานทั้งทีมต่างถูกคาดหวังให้มีผลการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย ในการปฏิบัติงานนั้น จะมีหลายครั้งที่บุคคลหนึ่งๆ อาจวอกแวกจากงานของตัวเอง (ด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม) และจากความวอกแวกนี้เองทำให้บุคคลนั้นก็อาจมีการกระทำบางอย่างที่โดยปกติแล้วบุคคลนั้นอาจไม่ได้กระทำ การบาดเจ็บจะสามารถเกิดขึ้นได้ถ้าพนักงานคนอื่นๆ ในทีมงานไม่ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการช่วยให้เพื่อนพนักงานของตนมีสมาธิกับการทำงานนั้นๆ เราอาจเรียกอาการวอกแวกดังกล่าวนี้ว่าเป็นอาการ “ใจลอย” ภาวะเช่นนี้เองเป็นเวลาสำคัญที่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บขึ้นได้แม้ว่าในตอนนี้จะมีสภาพแวดล้อมที่ถูกต้องหรือปลอดภัยก็ตาม 

จากย่อหน้าข้างต้น จะเห็นว่าทุกคนจะมีส่วนในการทำให้ผู้อื่นปลอดภัยจากการทำงานได้ คุณอาจใช้เวลาเพียงแค่ 2-3 นาทีเท่านั้นเองในการทบทวนขั้นตอนกับทำงานกลุ่มกับทีมพนักงานที่พร้อมจะช่วยกันทำงานนั้นๆ คุณอาจเตือนให้เพื่อนพนักงานสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เหมาะสมในการทำงานใดๆ หรือคุณอาจบอกให้เพื่อนร่วมงานขยับออกจากตำแหน่งที่มีสิ่งของถูกยกแขวนอยู่ด้านบน เราทุกคนล้วนมีความรับผิดชอบในการที่จะช่วยให้เพื่อนคนอื่นๆ มีการปฏิบัติตนอย่างปลอดภัย และการที่เราไม่ให้ความร่วมมือดังกล่าวนี้ก็อาจนำมาซึ่งการบาดเจ็บที่รุนแรงถึงชีวิตก็เป็นได้ (และมันเคยเกิดขึ้นแล้วด้วย)

5) การป้องกัน กับ การนิ่งเฉย

ในบริษัทของคุณนั้นมีมาตรการป้องกันเชิงรุกหรือไม่ หรือมีเพียงแค่การนิ่งเฉยไว้จนกว่าจะมีการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุหนึ่งๆ เกิดขึ้นเท่านั้น? ถ้าหากว่าบริษัทของคุณมีการใช้มาตรการป้องกันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมความปลอดภัยในบริษัทของคุณนั้น สมาชิกทุกคนในทีมงานก็จะมีการมองหาวิธีการต่างๆ ในเชิงรุกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บขึ้นได้ การมองไปที่กระบวนการโดยภาพรวม ระเบียบปฏิบัติที่ได้มีการกำหนดขึ้นมาและแนวการปฏิบัติงานของพนักงานทุกคนในการที่จะปฏิบัติงานต่างๆ นั้น จะทำให้เห็นถึงบรรยากาศการป้องกันอันตรายที่ไม่ได้เป็นหน้าที่ของพนักงานเพียงคนใดคนหนึ่งเท่านั้น การให้ความยอมรับแก่พนักงานคนใดๆ ก็ตามที่เป็นผู้ริเริ่มแก้ไขหรือกำจัดอันตรายต่างๆ ที่ตนได้พบเห็นนั้นก็จะเป็นการส่งเสริมให้พนักงานคนอื่นๆ กระทำการดังกล่าวเช่นเดียวกันด้วย ผู้บริหารจะมีหน้าที่รับผิดชอบในการทำให้สถานที่ปฏิบัติงานมีความปลอดภัยโดยภาพรวม แต่พนักงานทุกคนก็ยังคงมีหน้าที่รับผิดชอบในการช่วยชี้บ่งและแก้ไขปัญหาต่างๆ การมีส่วนร่วมของทุกคนเช่นนี้อาจมีการนำแผนการแสดงความคิดเห็นของพนักงานมาใช้โดยที่จะเป็นการแสดงความคิดเห็นของพนักงานทุกคนทุกแผนกในองค์กร การแสดงความคิดเห็นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หนึ่งๆ นั้นควรมีการทบทวนเรื่องความปลอดภัยและการทบทวนด้านวิศวกรรมหรือการตลาดรวมเข้าไว้ด้วยกันด้วย นอกจากนี้การแสดงความคิดเห็นเพื่อการพัฒนาสภาพต่างๆ ที่มีความปลอดภัยนั้นก็ควรมีการทบทวนเรื่องการบำรุงรักษาหรือการผลิตด้วยเช่นกันเพื่อทำให้แน่ใจว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนั้นจะไม่ส่งผลกระทบเสียหายต่องานอื่นๆ ในกระบวนการ 

การนิ่งเฉย (การไม่ทำสิ่งใดๆ จนกว่าจะมีสิ่งใดๆ เกิดขึ้น) ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของความขี้เกียจหรือความเฉื่อยชานั่นเอง ภาวะความนิ่งเฉย ความขี้เกียจหรือความเฉื่อยช้านี้ เมื่อมาอยู่รวมกันก็อาจนำมาซึ่งความเสียหายรุนแรงได้ทั้งต่อบุคคลและต่อธุรกิจ ถ้าหากว่าพนักงานคนหนึ่งๆ ไม่สนใจในเรื่องความปลอดภัยของตัวเองหรือความปลอดภัยของคนอื่นๆ ที่ตนทำงานด้วยนั้น พนักงานคนนี้ก็จะไม่สนใจในคุณภาพของงานของตนเองด้วยเช่นกัน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้จริง คุณ ในฐานะผู้มีหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของพนักงาน ก็อาจต้องมองหาพนักงานใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทนพนักงานคนที่มีปัญหานี้โดยเร็ว

 6) ผลการปฏิบัติงาน กับ การปฏิบัติที่สอดคล้อง

การปฏิบัติที่ปลอดภัยนั้นเป็นสิ่งที่กฎหมายได้กำหนดบังคับไว้ แต่ในท้ายที่สุดแล้วการปฏิบัติตนเช่นนั้นก็จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตัวพนักงานเองนั่นเอง ถ้าการปฏิบัติงานหนึ่งๆ เป็นไปอย่างถูกต้อง มันก็จะเกิดความปลอดภัย เกิดผลผลิต เกิดผลกำไร และเกิดความสอดคล้องตามข้อกำหนด/ข้อบังคับที่มี อย่างไรก็ตามพนักงานส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจว่าข้อกำหนดของกฎหมายหรือข้อบังคับของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะระบุไว้อย่างไรบ้างเกี่ยวกับสิ่งที่เขาสามารถทำหรือไม่สามารถทำได้ หากแต่ผู้บริหารของบริษัทจะต้องให้ความสนใจกับเรื่องนี้ ผู้บริหารที่ขู่พนักงานในเรื่องนี้จะไม่สามารถกำจัดการบาดเจ็บให้หมดไปได้ และการที่ผู้บริหารบอกพนักงานว่าพวกเขาจะต้องทำอะไรตามกฎหมายได้กำหนดไว้บ้างนั้นอาจไม่สามารถทำให้พนักงานมีการปฏิบัติที่สอดคล้องตามที่ตนบอกเสมอไป 

การช่วยให้พนักงานมีความเข้าใจว่าเพราะเหตุใด “การทำเช่นนี้” จึงเป็นประโยชน์แก่ตัวพนักงานเองนั้น จะทำให้พนักงานได้เห็นถึงช่องทางในการตัดสินใจเลือกในเรื่องต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง การอธิบายให้พนักงานได้เห็นว่าการที่พวกเขาปฏิบัติงานในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งจะสามารถส่งผลดีหรือผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของเขาเองและคุณภาพชีวิตของครอบครัวของเขาอย่างไรบ้างนั้นจะมีผลโดยตรงต่อทางเลือกที่พนักงานจะเลือกปฏิบัติเมื่อเขาปฏิบัติงานตามลำพัง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในขณะที่ถูก “เฝ้ามอง” นั้นจะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่อยู่อย่างยาวนาน การเปลี่ยนแปลงในการปฏิบัติงานโดยมีพื้นฐานมาจากความเข้าใจในความเสี่ยงและการทราบถึงความคาดหวังของบริษัทต่างหากที่จะดำรงอยู่ไปตลอดชีวิตของเขา

 

 

เริ่มต้นอย่างไรได้บ้าง?

 

มีเครื่องมือมากมายที่คุณจะสามารถสร้างขึ้นมาใช้ในบริษัทของคุณเอง โดยในโลกใบนี้จะมีตัวอย่างและข้อเสนอแนะมากมายที่คุณจะนำมาใช้ได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้มิได้หมายถึงเป็น “ต้นแบบ” ให้คุณปฏิบัติตามแต่อย่างใด นั่นคือ คุณจะต้องนำหลักการเหล่านั้นไปปรับใช้เป็นแนวทางที่สอดคล้องเหมาะสมกับความต้องการพิเศษของบริษัทคุณนั่นเอง

Visitors: 569,255