จัดการความปลอดภัยในโรงเรียนด้วย 3E

อุบัติเหตุจราจรที่เกิดขึ้นในแต่ละปีของประเทศไทยส่งผลต่อความเสียหายในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐ เอกชนและภาคประชาชน พยายามประสานความร่วมมือดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อเป็นส่วนช่วยผลักดันการลดอุบัติเหตุอย่างจริงจัง

จากการศึกษามาตรการในการลดอุบัติเหตุพบว่าจุดสำคัญที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้แก่บริเวณหน้าโรงเรียนในเขตชุมชน เพราะมีเด็กนักเรียน ครู-อาจารย์และประชาชน สัญจรไปมาเป็นจำนวนมาก เด็กนักเรียนถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ออุบัติเหตุเพราะเป็นวัยที่มีระดับของการตัดสินใจไม่เท่ากับวัยผู้ใหญ่ ส่งผลให้ความระมัดระวังการใช้รถใช้ถนนไม่เท่ากัน


เรามักเห็นภาพของเด็กนักเรียนที่มักเดินข้ามถนน แต่ไม่สามารถคาดคะเนความเร็วของรถที่สัญจรไปมาได้ หรือการเว้นระยะห่างหรือช่องว่างที่เหมาะสมเพื่อการข้ามถนนอย่างปลอดภัย ประกอบกับความไม่เข้าใจ ไม่รู้ความหมายของเครื่องหมายจราจรอย่างเพียงพอ และเมื่อผู้ขับขี่เองประมาท ไม่ระมัดมะวัง ก็อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันได้เช่นกัน


การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบริเวณโรงเรียนและสถานศึกษาจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยการป้องกันอุบัติเหตุต้องประกอบไปด้วยงาน 3E คือ งานด้านวิศวกรรม (Engineering) ด้านการให้ความรู้ (Education) และงานด้านการบังคับใช้กฎระเบียบ (Enforcement) ‘หลักการ 3E’ นี้เป็นหลักสากลที่ใช้กล่าวถึงการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนนที่ต้องดำเนินไปพร้อมๆ กันจึงจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ดังนี้

ด้านการให้ความรู้ (Education) ได้แก่ การรณรงค์ให้ใช้อุปกรณ์นิรภัยต่างๆ อาทิ หมวกนิรภัย เข็มขัดนิรภัย การลดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น เมาไม่ขับ การใช้ความเร็วสูงเกินระดับปลอดภัย การแซงรถในที่คับขัน การฝึกฝนทักษะในการเป็นผู้ใช้รถใช้ถนนที่ดี การฝึกอบรมผู้ขับขี่รถยนต์ก่อนที่จะทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ และการให้ความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบและวินัยจราจรเพื่อสร้างจิตสำนึกและความร่วมมือในการลดและป้องกันอุบัติเหตุจราจร

ด้านการบังคับใช้กฎระเบียบ (Enforcement) ได้แก่ การตรวจจับผู้ขับขี่ไม่สวมหมวกนิรภัย การตรวจจับผู้ขับขี่ที่ใช้ความเร็วสูง การตรวจจับผู้ขับขี่ในขณะมึนเมา และด้านวิศวกรรม (Engineering) ได้แก่ การเข้มงวดในการจัดการจราจรในเขตโรงเรียนให้มีความปลอดภัย เช่น บริเวณทางเท้าหน้าโรงเรียนไม่ควรให้มีอุปสรรคกีดขวางทางเดิน เช่น ร้านค้า เสาไฟฟ้า และตู้โทรศัพท์ แต่หากโรงเรียนอยู่ในเขตถนนที่มีปริมาณการจราจรหนาแน่นอาจเพิ่มการติดตั้งแนวรั้วที่ริมขอบทางเท้าเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางของนักเรียนมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ควรปรับปรุงเครื่องหมายจราจรบริเวณโรงเรียนและสถานศึกษาให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ดีอยู่เสมอ เช่น ป้ายจราจร ทางม้าลาย และสัญญาณไฟกะพริบ เพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการจัดพื้นที่จอดรับ-ส่งนักเรียนใกล้กับเขตทางข้าม และต้องติดตั้งป้ายจราจรเพื่อกำหนดเขตพื้นที่จอดรถชั่วคราว รวมถึงติดตั้งเครื่องหมายจราจรบนพื้นทางและสันขอบทางเพื่อให้มีการลดความเร็วของกระแสจราจรที่ผ่านบริเวณโรงเรียน

จัดการความปลอดภัยในโรงเรียนด้วย 3E

ทั้งนี้ ในอดีตเรามักพบเห็นตัวอย่างของการจัดการจราจรบริเวณโรงเรียนที่ใช้วิธีการต่างๆ ที่ปราศจากหลักแห่งความปลอดภัยทางด้านวิศวกรรมจราจร เช่น การให้เด็กนักเรียนใส่เสื้อสะท้อนแสงและมายืนจัดการจราจรอยู่บริเวณกลางถนน ทั้งๆ ที่ตามหลักการที่ถูกต้องควรใช้อุปกรณ์อื่นๆ เพื่อช่วยลดความเร็วของกระแสจราจรและการจัดการจราจรในช่วงก่อนเข้าเรียนและหลังเลิกเรียน เช่น การใช้ป้ายเตือนจำกัดความเร็ว หรือการใช้ป้ายบอกให้ผู้ขับขี่ทราบล่วงหน้าว่าทางข้ามข้างหน้าเป็นเขตโรงเรียน เพื่อให้ผู้ขับขี่ลดความเร็วลง

นอกจากนี้อาจติดตั้งอุปกรณ์ยับยั้งความเร็วแบบชั่วคราวในพื้นที่เขตโรงเรียน (Temporary School Zone Safety) เฉพาะช่วงเวลาก่อนและหลังเข้าเรียน ดังนั้นอุปกรณ์นี้จะต้องสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างสะดวกสบาย และง่ายต่อการติดตั้งเมื่อต้องการใช้งาน อย่างไรก็ตามต้องคำนึงถึงราคาของอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยนี้ด้วย ซึ่งต้องไม่แพงเกินเอื้อมกับหลายๆ โรงเรียนที่มีงบประมาณจำกัด

แนวทางการดำเนินการป้องกันอุบัติเหตุบริเวณโรงเรียนควรยึดหลักทางด้านวิศวกรรมจราจรที่ทุกโรงเรียนควรให้ความสำคัญ เพราะการส่งเสริมงานการจัดการด้านความปลอดภัยบริเวณโรงเรียนเป็นกระบวนการหนึ่งในแนวทางการสร้างสภาพแวดล้อมบริเวณโรงเรียนให้มีความปลอดภัย และยังช่วยให้การจราจรบริเวณหน้าโรงเรียนมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความคล่องตัวไม่ติดขัด เพื่อเป็นการลดความสูญเสียบุคลากรที่เป็นกำลังหลักของชาติในอนาคต

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org

Visitors: 568,697