ชวนรู้ 8 วิธีการหนีไฟบนอาคารสูงอย่างถูกต้อง

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ นิด้า เผยแพร่บทความให้ความรู้เรื่องวิธีการหนีไฟและวิถีการลุกลามของเพลิงไฟในอาคารสูง ระบุไฟมักลามติดผนังขึ้นสู่ชั้นที่สูงกว่า แนะให้ผู้ประสบเหตุรีบลงจากอาคารหรืออยู่ในชั้นที่ต่ำกว่าชั้นเกิดเหตุ

วันนี้ (6 ก.พ. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถิติสถานการณ์อัคคีภัยของประเทศไทยในช่วง 22 ปีที่ผ่านมา (2532-2554) ของศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พบว่า เกิดไฟไหม้ทั่วประเทศ 50,413 ครั้ง มูลค่าความเสียหายคิดเป็นเงิน 30,313,327,962 บาท เสียชีวิต 1,710 คน และบาดเจ็บ 4,007 คน

โดยเป็นเหตุอัคคีภัยในอาคารพาณิชย์ทั้งหลัง 1,251 หลัง โรงแรม 141 แห่ง ห้างสรรพสินค้าและอาคารสูง 135 แห่ง แม้ว่าจำนวนที่ปรากฏนั้น น้อยกว่าเหตุเพลิงไหม้ในบ้านเรือน วัด โรงเรียน และสถานที่ราชการ รวมแล้วกว่า 72,000 หลัง/แห่ง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเปลวเพลิงสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินไม่น้อย

ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยแพร่บทความระบุถึง “สาเหตุของปัญหาที่ทำให้การดับไฟไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ทันการณ์” โดยพบว่า

1.ส่วนมากสภาพพื้นที่ปฏิบัติการไม่เอื้ออำนวย

2.การอพยพผู้ประสบเหตุไม่รวดเร็วพอ

3.ระบบรักษาความปลอดภัยจากเพลิงไหม้ ไม่สามารถรองรับเปลวเพลิงรุนแรงได้

4.ผู้อยู่อาศัยในตึกไม่จำหลักการในการหนีไฟที่ถูกต้อง

บทความดังกล่าวยังให้ความรู้ถึง “วิถีการลุกลามของไฟในอาคารสูง” จากการศึกษาพบว่าในภาพรวม ไฟจะติดตามผนังอย่างรวดเร็วเป็นอันดับแรก และค่อยลามขึ้นยังชั้นถัดไปเรื่อยๆ โดยยังไม่เข้าไปถึงในตัวอาคาร เมื่อไปลุกถึงผนังตึกชั้นบนสุดแล้วเปลวไฟถึงจะลามเข้าไปในตัวอาคาร พร้อมกันกับไฟลุกไหม้จากชั้นด้านล่างจะลามเข้าสู่ตัวอาคารเช่นกัน และลามไปสู่ชั้นบนผ่านปล่องลิฟท์และทางเดินต่างๆ ภายในอาคาร จนกระทั่งลุกท่วมทั้งตัวอาคาร

ขณะที่ “การหนีไฟในอาคารสูงอย่างถูกต้อง” ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติระบุว่า ตัวแปรที่จะเพิ่มหรือลดความรวดเร็วในการหนีไฟมี 3 ส่วนด้วยกันคือ 1.พฤติกรรมการหนีไฟในบันไดหนีไฟ 2.ความแข็งแรงของผู้หนีไฟ และ 3.การมองเห็นเมื่อหนีไฟอยู่ในบันไดหนีไฟ

ส่วนวิธีการหนีไฟในอาคารสูงที่ถูกต้อง มีดังนี้

1.ผู้ที่อยู่บนชั้นสูงไม่ควรหนีขึ้นไปบนดาดฟ้าหรือหลังคา เพราะไม่สามารถทราบได้ว่าจะมีเฮลิคอปเตอร์มาช่วยเหลือหรือไม่ หรือเฮลิคอปเตอร์ไม่สามารถทนต่อความร้อนได้ เป็นที่มาของแผนหนีไฟที่ให้คนอพยพลงสู่ด้านล่างอาคารเสมอ

2.ไม่ควรอยู่ในลิฟท์ขณะไฟไหม้ เนื่องจากในลิฟท์จะมีควันไฟ อีกทั้งลิฟท์อาจไปค้างที่ชั้นเกิดเพลิงไหม้

3.สำหรับผู้พิการ อาคารสูงจำเป็นต้องสร้างพื้นที่หลบภัยในแต่ละชั้น เพื่อให้ผู้พิการสามารถเข้าไปหลบระหว่างรอเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือ

4.ผู้ประสบภัยต้องพยายามปิดประตูเพื่อกันไม่ให้ควันเข้ามาภายใน และใช้โทรศัพท์โทรติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อบอกตำแหน่งของตนเอง

5.ขณะรอเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือ ให้พยายามทำสัญลักษณ์ให้ผู้อื่นทราบตำแหน่งที่ตนเองอยู่ และไม่แนะนำให้ทุบกระจก แต่หากเป็นกระจกแบบเปิดได้สามารถเปิดเพื่อรับอากาศบริสุทธิ์ แต่หากมีควันลอยเข้ามาให้ปิดทันที และการทุบกระจกอาจทำให้เจ้าหน้าที่ที่เข้ามาช่วยเหลือได้รับบาดเจ็บ หรือทำให้สายดับเพลิงขาด

6.การกระโดดออกจากหน้าต่างเพื่อหนีไฟไหม้ จะเกิดอันตรายแก่ผู้ประสบภัยหากอยู่สูงกว่าชั้น 2

7.แนะนำให้อยู่ในชั้นเดิมหรือชั้นที่ต่ำกว่าชั้นที่เกิดเหตุเพลิงไหม้จะปลอดภัยกว่า

8.เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ ผู้ประสบภัยควรทำตามแผนหนีไฟฉุกเฉินและรีบออกจากตัวตึกทันที

 

จากบทความจาก ข่าวไทยพีบีเอส

 

Visitors: 595,756