ความปลอดภัยในโรงเรียน

สวัสดีครับ

           เด็กวันนี้ คือ ผู้ใหญ่ในวันหน้า

          ความปลอดภัยจึงมีความสำคัญต่อ เยาวชน อนาคตของชาติ  เด็กความรู้สึก นึกคิด ยังน้อย ดังนั้น ผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ จึงจำเป็นจะต้องเรียนรู้ความปลอดภัย เพื่อให้เด็กในการปกครองของเรา มีความปลอดภัย มีชีวิต ก้าวเดินต่อไป

         

        “โรงเรียน” ถือเป็นสังคมหนึ่งที่เด็กนักเรียนใช้ชีวิตและเวลาส่วนใหญ่คลุกคลีอยู่ในโรงเรียนและเป็นสังคมที่พ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนให้การยอมรับ นับถือยกย่องและคาดหวังว่าเด็กจะได้รับความรู้ การอบรมสั่งสอน ได้รับการพัฒนาศักยภาพทางด้านร่างกาย จิตใจ และได้รับการปกป้อง คุ้มครองทางด้านร่างกาย จิตใจและทรัพย์สินจากครู ซึ่งเป็นบทบาทหนึ่งที่นอกเหนือจากการทำหน้าที่อบรมสั่งสอนเพียงอย่างเดียว

 

       ดังนั้นโรงเรียนจึงต้องเป็นสถานที่ที่มีความปลอดภัยสำหรับเด็กทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ครูปฏิบัติต่อเด็กอย่างเหมาะสม ดูแลเด็กด้วยการเอาใจใส่ ปกป้องคุ้มครองเด็กนักเรียนราวกับว่าเด็กนักเรียนนั้นเป็นลูกเป็นหลานของตนเอง

 

      องค์ประกอบที่สำคัญของการสร้างความปลอดภัยในโรงเรียน ควรประกอบด้วย 4 ด้าน ดังนี้
1.การคุ้มครองและช่วยเหลือเด็ก
หมายถึง ระบบ และ การดำเนินงาน ในการดูแล ตรวจตรา/เฝ้าระวัง ช่วยเหลือ และคุ้มครองเด็กให้ปลอดภัยจากอันตรายด้านบุคคล โดยเด็กที่ควรได้รับการช่วยเหลือและคุ้มครอง ได้แก่ เด็กที่เสี่ยงจะได้รับอันตราย เด็กที่มีปัญหาด้านสติปัญญา เด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมไม่เหมาะสม เด็กที่มีโรคทางสมอง ( สมาธิสั้น มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ออทิสติก ) เด็กที่มีความพิการทางร่างกาย เด็กที่มีปัญหาด้านอารมณ์จิตใจ เด็กที่ขาดทักษะสังคมเด็กที่มีปัญหาครอบครัว รวมถึงเด็กที่ถูกทำร้ายรังแกจากผู้ใหญ่และจากเด็ก
ด้วยกัน


2.การป้องกันภัยจากสิ่งแวดล้อม/อุบัติเหตุ/ภัยพิบัติ/โรคภัยไข้เจ็บ/สื่อ
หมายถึง การจัดสภาพแวดล้อมและการวางกฎเกณฑ์ให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บที่คาดไม่ถึง รวมไปถึงโรคภัยไข้เจ็บและภัยจากสื่อต่าง ๆ เช่น การสร้างและจัดวางสนามเด็กเล่นที่ปลอดภัย การวางระบบไฟฟ้าและมาตรการตรวจตราระบบไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ การติดตั้งระบบความปลอดภัยจากการใช้อินเทอร์เน็ต ฯลฯ นอกจากนี้ยังหมายความรวมไปถึงเรื่องกิจกรรมการดำเนินงานที่จะส่งเสริมความปลอดภัย เช่น กิจกรรมเดินสำรวจจุดเสี่ยง กิจกรรมซ้อมหนีไฟ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ฯลฯ


3.การป้องกันอันตรายจากบุคคล
หมายถึง การจัดสภาพแวดล้อมและการวางกฎเกณฑ์ให้ปลอดภัยจากบุคคล โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพของเด็ก ตั้งแต่เริ่มเดินเข้าสู่ประตูโรงเรียนจนกระทั่งออกจากโรงเรียนถึงบ้าน รวมทั้งการจัดกิจกรรมเสริมทักษะการดูแลป้องกันภัยตัวเองให้ปลอดภัย ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีผู้ใหญ่ทำร้ายเด็กและเด็กทำร้ายกันเอง


4.การสร้างความสัมพันธ์อันดีในโรงเรียน
หมายถึง การสร้างบรรยากาศความสัมพันธ์ที่ดี ในโรงเรียนทั้งระหว่างเด็กกับเด็ก และครูกับเด็ก โดยเน้นให้เด็กมีความรู้สึกดีในการใช้ชีวิตอยู่ที่โรงเรียนเช่น ได้รู้สึกถึงการได้รับการยอมรับทั้งจากครูและจากเพื่อนด้วยกัน นอกจากนี้ยังรวมถึงการทำให้โรงเรียนกับครอบครัวได้มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันในอันที่จะร่วมกันพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพต่อไป

 

กิจกรรม “สถานศึกษาปลอดภัย และสุขภาพอนามัยดี” ประจำปี ๒๕๖๐

 

กิจกรรม “สถานศึกษาปลอดภัย และสุขภาพอนามัยดี” ประจำปี ๒๕๖๐ มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความตระหนักด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้เกิดขึ้นภายในสถานศึกษา สร้างเครือข่ายความร่วมมือของการพัฒนาและรณรงค์ความปลอดภัยในสถานศึกษา รวมทั้งสร้างต้นแบบการดำเนินการความปลอดภัยในสถานศึกษา อันจะส่งผลให้การขับเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชาติ “แรงงานปลอดภัย และสุขภาพอนามัยดี” บรรลุผลสำเร็จต่อไป ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว มีลักษณะเป็นการแข่งขันภายในสถานศึกษาของตนเอง โดยมีรายละเอียด ดังนี้

๑. สถานศึกษาหรือสถาบันการศึกษาที่สนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรม “สถานศึกษาปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี” ประจำ ปี ๒๕๖๐ สามารถดาวน์โหลดใบสมัครเข้าร่วมกิจกรรม ที่เว็บไซต์ www.oshthai.org โดยส่งใบสมัครเข้าร่วมกิจกรรม และแบบเสนอชื่อเพื่อตรวจประเมิน พร้อมเอกสารรายละเอียดตามหัวข้อที่กำหนด ได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ทุกพื้นที่หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด ในเขตที่ตั้งของสถานศึกษาเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาตรวจประเมินต่อไป

๒. สถานศึกษาหรือสถาบันการศึกษา ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และจัดทำเอกสารรายละเอียดตามหัวข้อที่กำหนด โดยต้องเป็นผลงานตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนธันวาคม ๒๕๕๙ และเป็นผลงานจริงที่ได้ดำเนินการด้านความปลอดภัยฯ ในสถานศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม ชัดเจน และเกิดประโยชน์ในภาพรวมของงานความปลอดภัยฯ

๓. การพิจารณาของคณะทำงานตรวจประเมินกิจกรรม “สถานศึกษาปลอดภัย และสุขภาพอนามัยดี” ประจำปี ๒๕๖๐ ถือเป็นที่สุด

๔. ระยะเวลารับสมัคร : ตั้งแต่วันที่ ๑๐ มีนาคม – ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๐

๕. ระยะเวลาหมดเขตการส่งแบบเสนอชื่อเพื่อตรวจประเมินและเอกสาร : วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๐

๖. ประเภทรางวัล ประกอบด้วย

๖.๑ รางวัลดีเด่น (ไม่จำกัดจำนวน) สำหรับสถานศึกษาที่ได้รับโล่รางวัลเป็นปีที่ ๑ และ ประกาศนียบัตรเกียรติยศ สำหรับสถานศึกษาที่ได้รับรางวัลเป็นปีที่ ๒ - ๔ ติดต่อกัน และโล่รางวัลดีเด่นเมื่อได้รับรางวัลเป็นปีที่ ๕ ติดต่อกัน โดยต้องมีคะแนนตั้งแต่ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป

๖.๒ ประกาศนียบัตรชมเชย (ไม่จำกัดจำนวน) สำหรับสถานศึกษาที่มีคะแนนตั้งแต่ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป แต่ไม่ถึง ๙๐ เปอร์เซ็นต์

๗. สถานศึกษาที่ได้รับรางวัลจะแจ้งการรับรางวัลและสถานที่ให้ทราบต่อไป

 

http://www.oshthai.org/index.php?option=com_content&view=article&id=604:-m-m-s&catid=1:news-thai

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
กลุ่มงานเครือข่ายความปลอดภัยในการทำงาน
กองความปลอดภัยแรงงาน
โทร 0 2448 9128-39 ต่อ 710

Visitors: 585,766