อุบัติเหตุจากการทำงาน

คนทำงาน ที่ได้รับอันตรายจากการทำงาน ส่วนใหญ่มักขาดความเอาใจใส่ ในเรื่องของสุขภาพความปลอดภัยทั้งในส่วนตัวคนงานเอง และสถานประกอบการที่ ไม่มีนโยบายเรื่องสุขภาพความปลอดภัย รวมถึงการขาดประสิทธิภาพในการตรวจสอบให้ความรู้ บังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ ดังนั้นเราจึงจำเป็นที่จะต้องเข้าใจ และปฏิบัติตามหลักความปลอดภัยโดยเคร่งครัด แล้วเราจะปลอดภัยจากอันตรายหรืออุบัติเหตุต่าง ๆ
สาเหตุโดยทั่วไปของอุบัติเหตุ อาจแบ่งได้ดังนี้
1.ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
มักเกิดกับบุคคลที่เข้าทำงานใหม่ ๆ หรือเข้าทำงานกับเครื่องมือ เครื่องจักรใหม่ โดยที่ ไม่ได้รับคำอธิบายถึงการปฏิบัติและการทำงานของเครื่องมือเครื่องจักรโดยละเอียด จึงมักจะทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อย ๆ
การสอนเกี่ยวกับความปลอดภัยยังไม่ดีพอ
กฎความปลอดภัยไม่มีผลบังคับใช้
ไม่ได้วางแผนงานความปลอดภัยไว้เป็นส่วนหนึ่งของงาน
จุดอันตรายต่าง ๆ ไม่ได้ทำการแก้ไข
อุปกรณ์ความปลอดภัยไม่ได้จัดให้
ขาดความรู้หรือไม่ได้ตระหนักในเรื่องความปลอดภัย

2. ความประมาท
เกิดจากมีความเชื่อมั่นมากเกินไปเนื่องจากทำงานมานาน
การละเลยไม่เอาใจใส่หรือมีทัศนคติผิด ๆในเรื่องความปลอดภัย
เครื่องป้องกันอันตรายหรือเครื่องกั้นจัดไว้ให้ แต่ไม่ใช้หรือถอดออก
ใช้เครื่องมือเครื่องใช้ไม่ถูกต้องกับลักษณะของงานที่ทำ ถึงแม้ว่าจะมีเครื่องมือที่ถูกต้องให้เลือกใช้ได้เหมาะสมก็ตาม
ยกของด้วยวิธีผิด ๆ จนน่าจะเกิดอันตราย
อิริยาบทในการเคลื่อนไหวน่าจะเกิดอันตราย เช่น การเดิน การวิ่ง การกระโดด การก้าว การปีนป่าย
การหยอกล้อ หรือล้อเล่นในระหว่างการทำงาน

3. สภาพร่างกายของบุคคล
อ่อนเพลีย เนื่องจากไม่สบายเป็นไข้แล้วเข้าทำงานหนัก
หูหนวก
สายตาไม่ดี
โรคหัวใจ
สภาพร่างกายไม่เหมาะกับงาน

4. สภาพจิตใจของบุคคล
ขาดความความตั้งใจในการทำงาน
ขาดความสามารถในการควบคุมอารมณ์ในขณะทำงาน
ตื่นเต้นง่าย ขวัญอ่อน ตกใจง่าย

5. อุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องจักร มีข้อบกพร่องอาจเนื่องจากสาเหตุ เช่น
ใช้เครื่องมือไม่ถูกขนาด
ใช้เครื่องมือที่สึกหรอชำรุด ทื่อ หรือหัก
ใช้เครื่องมือที่ปราศจากด้ามหรือที่จับที่เหมาะสม
ไม่ใช้เครื่องป้องกันอันตราย
จับตั้งงานไม่ได้ขนาด และไม่มั่นคง
ละเลยต่อการบำรุงรักษา เช่น น้ำมันหล่อลื่นไม่เพียงพอ

6. สภาพของบริเวณปฏิบัติงานที่ไม่ปลอดภัย เช่น
แสงสว่างไม่เพียงพอ
เสียงดังมากเกินไป
การระบายอากาศที่ไม่เหมาะสม
ความสกปรก
บริเวณที่คับแคบ
มีสารเคมี และเชื้อเพลิง
พื้นที่ลื่น เนื่องจากคราบน้ำมัน
หลุมและสิ่งกีดขวางทางเดิน
การสูญเสียเนื่องจากการเกิดอุบัติเหตุ

การที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นแต่ละครั้งย่อมหมายถึงการสูญเสียเกิดขึ้นทุกครั้ง ได้แก่
1.การสูญเสียโดยตรง
ได้รับบาดเจ็บ พิการ หรือตาย และอาจทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายด้วย
ทำให้อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร ตลอดจนทรัพย์สินอื่น ๆชำรุดเสียหาย
การสูญเสียที่คิดเป็นเงินที่นายจ้างหรือรัฐบาลต้องจ่ายโดยตรง ให้แก่ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุจากการทำงาน เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินทดแทนที่ต้องจ่ายโดยรัฐหรือโรงงาน ค่าทำขวัญ

2. การสูญเสียโดยทางอ้อม
คือ การสูญเสียซึ่งมักจะคิดไม่ถึง หรือไม่ค่อยได้คิดว่าเป็นการสูญเสียเป็นลักษณะการสูญเสียที่แฝงอยู่ไม่ปรากฏเด่นชัด เช่น
สูญเสียแรงงานของลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บ จะต้องใช้เวลาพักฟื้นจนกว่าจะหาย
สูญเสียเวลาของลูกจ้างคนอื่น ๆ ซึ่งหยุดทำงานในขณะเกิดอุบัติเหตุด้วยเหตุผลต่อไปนี้ ความอยากรู้อยากเห็นเข้าไปมุงดูซักถามเหตุการณ์ด้วยความเห็นใจลูกจ้างผู้บาดเจ็บ ตื่นเต้น หรือช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในการทำปฐมพยาบาลหรือนำส่งโรงพยาบาล
สูญเสียเวลาของแพทย์หรือพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ในการปฐมพยาบาล
ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเครื่องจักรกล เครื่องมือ
ทำให้ปริมาณผลผลิตขาดหายไป ผลิตให้ผู้ใช้ไม่ทันเวลา เงินรางวัล โบนัสประจำปีลดน้อยลงไป
สูญเสียผลกำไรส่วนหนึ่งไป เนื่องจากลูกจ้างบาดเจ็บและเครื่องจักรหยุดทำงาน
ทำให้คนงานขวัญเสีย เกิดความกลัว ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
ครอบครัวต้องสูญเสียกำลังหลัก กำลังใจ สูญเสียรายได้

3.อันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงาน
การทำงานในชีวิตประจำวันของคนเรานั้น จะต้องสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันไป ทำให้แต่ละคนได้รับพิษภัย และการเกิดโรคอันเนื่องมาจากการทำงานแตกต่างกันไปตามสถานะภาพ ในหน้าที่การงานของแต่ละคน อันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงานพิจารณาได้ดังนี้
เสียงดัง คนทำงานโดยทั่วไปประมาณวันละ 8 ชั่วโมง จะรับระดับเสียงได้ไม่เกิน 90 เดซิเบล ถ้าดังเกินไปจะทำให้หูตึงและอาจหูหนวกได้
แสงสว่าง แสงสว่างมากเกินไป อาทิ เช่น จากเตาหลอม ไฟเชื่อม ทำให้ตาฝ้า ตามัว และอาจบอดได้
ความร้อน ถ้าไม่มีการป้องกันความร้อนที่ดีแล้วอาจได้รับอันตรายจากความร้อน เช่น ทำให้อ่อนเพลียไม่มีแรง หน้ามืดบ่อย ๆ และอาจเป็นลมสลบได้
ความกดดัน อากาศในบริเวณปฏิบัติงานที่มีความกดดันสูงกว่าปกติ จะทำให้เกิดอาการปวดหู อาจทำให้เยื่อหูฉีกขาดและทำให้หูหนวกในที่สุด
ความสั่นสะเทือน อาจทำให้ เนื้อเยื่ออ่อนของมือ เกิดอาการอักเสบลุกลามไปถึงกระดูกข้อมือ หรือทำให้กล้ามเนื้อมือเป็นอัมพาตหรือทำให้อวัยะบางส่วนลีบได้
สารเคมี ฝุ่น ไอ ควัน ละอองแก๊สของสารพิษสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทางคือ
โดยการหายใจ สารเคมีเมื่อเข้าไปถึงปอดจะถูกดูดซึมอย่างเร็วทำให้เกิดโรคปอดได้
โดยการดูดซึมทางผิวหนัง ทำให้ผิวหนังเป็นแผล เกิดอาการเป็นพิษต่อระบบหมุนเวียนโลหิตของร่างกาย
โดยการกินเข้าไป

การปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับวัสดุบางชนิดอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ วัสดุเหล่านี้ได้แก่
วัสดุที่มีขอบแหลมคม
วัสดุที่วางไว้ในที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น ไม่มีสิ่งจับยึด แขวนไว้เหนือศรีษะโดยไม่มีเครื่องป้องกันอันตราย หรือวางไว้เกะกะบนพื้น
วัสดุที่ติดไฟได้ง่าย เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ขยะมูลฝอย
สารเคมีที่เป็นพิษ
วัสดุที่มีอุณหภูมิสูง เช่น โลหะที่เผาจนร้อนจัด น้ำร้อน
ไอน้ำหรืออากาศที่มีความดันสูง เช่น หม้อไอน้ำ เครื่องปั้มลม
สื่อไฟฟ้าที่ปราศจากฉนวนหุ้ม
บันไดที่หัก หรือนั่งร้านที่ไม่แข็งแรงนั่นเอง

หลักความปลอดภัยในการทำงานโดยทั่วไป
เรื่องสุขภาพความปลอดภัยไม่ใช่เรื่องของใคร คนใดคนหนึ่ง เป็นเรื่องที่ ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือสถานประกอบการ และลูกจ้าง ต้องตระหนักและให้ความสำคัญต่อเรื่องสุขภาพความปลอดภัย ปฎิบัติตามกฎหมายความปลอดภัย วางนโยบาย เรื่องนี้อย่างจริงจังเคร่งครัด และร่วมมือกับผู้ปฎิบัติงานช่วยกัน ดูแลตรวจสอบอย่างจริงจัง และต้องคำนึงถึงเรื่องดังต่อไปนี้
จะต้องยอมรับ และปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยของโรงงานโดยเคร่งครัด
ใช้เครื่องมือให้ถูกวิธี ถูกขนาด และถูกกับงาน
แต่งกายให้ถูกต้องตามระเบียบของโรงงาน และใช้เครื่องป้องกันอันตรายทุกครั้งที่ปฏิบัติงานที่กำหนดให้ใช้เครื่องป้องกัน
หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ เครื่องมือหรือเครื่องจักรที่ชำรุดเสียหาย หรืออยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะสมต่อการใช้งาน
เก็บรักษาอุปกรณ์ และเครื่องมือที่ใช้ในการทำงานให้เป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่เสมอ เมื่อนำไปใช้งานต้องเก็บไว้ให้ถูกจุดทุกครั้ง
รักษาความสะอาดทางเดินในโรงงาน และติดป้ายแสดงให้ชัดเจนที่บริเวณปฏิบัติงานที่มีอันตราย
รู้จักตำแหน่ง หรือที่ติดตั้งเครื่องดับเพลิงตลอดจนวิธีการใช้
ปฏิบัติตามคำเตือนหรือเครื่องหมายแสดงอันตรายใด ๆ ภายในโรงงาน
อย่าวิ่งหรือหยอกล้อกันในโรงงาน
ในกรณีเกิดอุบัติเหตุให้รีบช่วยเหลือทันที

เครื่องป้องกันอันตรายส่วนบุคคล
เครื่องป้องกันอันตรายส่วนบุคคล หมายถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่สวมใส่ลงบนอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หรือหลาย ๆ ส่วนรวมกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันอันตรายให้แก่อวัยวะส่วนนั้น ๆ ไม่ให้ต้องประสบกับอันตราย คือ เป็นการป้องกันอันตรายจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน

Visitors: 585,763