วิธีการทำให้ป้ายเตือนและป้ายคำขวัญใช้ได้ผลดียิ่งขึ้น

วิธีการทำให้ป้ายเตือนและป้ายคำขวัญใช้ได้ผลดียิ่งขึ้น

 

     W. Edwards Deming นักสถิติและศาสตราจารย์ชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นผู้บัญญัติหลักการบริหารคุณภาพ ที่เรียกว่า Deming Cycle หรือวงล้อ Plan-Do-Check-Act ที่โด่งดังไปทั่วโลก ได้เคยกล่าวไว้ว่า ควรนำป้ายสัญลักษณ์ คำขวัญ คำแนะนำและคำเชิญชวนต่างๆ ที่ติดไว้ในที่ทำงานออกเสีย เมื่อเราได้ยินคำกล่าวนี้ เราก็คงสงสัยกันว่า ทำไม Deming ถึงแนะนำเช่นนั้น และเราก็สงสัยกันต่อว่าเขากำลังจะแนะนำให้เราหยุดเสนอแนะแนวทางให้พนักงานปฏิบัติตามและหยุดกล่าวถึงเป้าหมายการปฏิบัติงานสำหรับพนักงานใช่หรือเปล่า?

       ซึ่งถ้าหากว่า Deming แนะนำอย่างนั้นจริงๆ ก็เท่ากับว่าแนวคิดของ Deming ก็จะขัดแย้งกับแบบจำลอง ABC (Activator-Behavior-Consequence) ของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อความปลอดภัยล่ะสิ ทั้งนี้จากการศึกษาวิจัยที่สำคัญในอดีตได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า "พฤติกรรม (Behavior)" ได้รับอิทธิพลอย่างชัดเจนจาก "เหตุชักนำ" (Activator) (หรือสิ่งกระตุ้น เช่น ป้ายสัญลักษณ์ ที่เป็นตัวกำหนดลักษณะของพฤติกรรม) และจาก "ผลที่เกิดขึ้นตามมา" (Consequence) (เหตุการณ์ที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ ที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดพฤติกรรม)

      สำหรับผู้เขียนแล้ว แนวคิดการกำจัดป้ายสัญลักษณ์ คำขวัญและคำแนะนำต่างๆ ของคุณ Deming ดังกล่าวนี้ ไม่ได้เป็นการขัดแย้งกับหลักการพฤติกรรมข้างต้นแต่อย่างใด แต่เป็นคำพูดที่จะวิจารณ์แนวทางการพัฒนาด้านความปลอดภัยที่มีการแนะนำหรือบอกกล่าวโดยใช้ป้ายหรือข้อความซึ่งมีการใช้กันอยู่ทั่วไป รวมถึงต้องการเน้นให้เห็นถึง "เหตุชักนำ" ที่ทำให้เกิดการกระทำต่างๆ ถ้าหากว่าเราพยายามที่จะกระตุ้นพฤติกรรมด้วยวิธีการปฏิบัติแบบมาตรฐานทั่วไปแล้ว เราก็อาจจะไปทำลายวิธีการปฏิบัติมาตรฐานดังกล่าวนี้ไปด้วยอย่างไม่ตั้งใจก็ได้ ในปัจจุบันนี้ การใช้งานป้ายสัญลักษณ์ คำขวัญและคำแนะนำต่างๆ ด้านความปลอดภัยนั้นอาจจะเป็นเพียงการเพิ่มความคาดหวังให้มากขึ้นโดยที่ไม่ได้มีการเสนอแนะแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมและมีประโยชน์เลยก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ป้ายสัญลักษณ์ คำขวัญและคำแนะนำต่างๆ ก็อาจนำไปสู่อันตรายมากกว่านำไปสู่ความปลอดภัยได้ แน่นอนว่าการติดป้ายเตือน ป้ายคำขวัญต่างๆ นั้น นับได้ว่าสอดคล้องกับ แนวคิด ABC ที่เริ่มต้นกระบวนการด้วย "ตัวกระตุ้น หรือ Activator" การติดป้ายเตือน ป้ายคำขวัญต่างๆ จึงไม่ใช่เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เพียงแต่ว่าเราควรจะปรับปรุงแนวทางเรื่องนี้เพื่อให้เราได้ประโยชน์จากการติดป้ายเตือน ป้ายคำขวัญมากกว่าเดิม

สิ่งที่จะเล่าต่อไปนี้ คือ 6 แนวทางในการเพิ่มประโยชน์ที่ได้จากการใช้ป้ายเตือน ป้ายคำขวัญเป็น "เหตุชักนำ" ซึ่งแนวทางเหล่านี้จะสะท้อนให้คุณได้เห็นว่า คุณควรที่จะกำจัดป้ายสัญลักษณ์ คำขวัญ คำแสดงเป้าหมาย และคำแนะนำต่างๆ บางส่วนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันออกไปตามแนวคิดของคุณ Deming อย่างไรก็ดี ถ้าหากว่าเมื่อคุณต้องการติดป้ายคำขวัญ ซึ่งเป็นสร้าง "เหตุชักนำ" ใหม่ๆ ขึ้นมาและคุณได้ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะทั้ง 6 ประการนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ไม่เพียงแต่คุณจะเห็นพฤติกรรมปลอดภัยมากขึ้นและมีพฤติกรรมเสี่ยงลดน้อยลงเท่านั้น แต่เท่ากับว่าคุณได้มีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงทัศนคติของพนักงานและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในระยะยาวต่อไปอีกด้วย


แนวทางที่ 1: ต้องเป็นป้ายที่เจาะจงพฤติกรรม

  ผมต้องขออภัยกับบริษัทและผู้้บริหารบริษัทที่ป้ายความปลอดภัย  มีชื่อบริษัทระบุไว้   และต้องขอขอบคุณด้วยครับ ที่่ให้ที่ท่านผู้บริหารบริษัทฯ อนุญาตให้ใช้เป็นตัวอย่างของป้ายด้่านความปลอดภัยมาเผยแพร่ได้ โดยลบชื่อบริษัทฯ ออก ... ต้องของขอบพระคุณ มา ณ ที่นี้ด้วยครับ 

  ซึ่งผมขออนุญาตประชาสัมพันธ์ให้กับ เพื่อน ๆ น้อง จป  ห้ามนำตัวอย่าง แบบฟอร์ม ป้าย  เอกสาร ที่มีระบุชื่อ บริษัทฯ  มาใช้ในการทำงานหรืออ้างอิงโดยเด็ดขาด  อาจทำให้บริษัทนัน ๆ อาจได้รับผลกระทบหรือเสียหายได้  ควรหลี่กเลี่ยงการระบุชื่อบริษัทอื่น นะครับ

  เช่น น้อง จป บางท่าน ได้นำป้ายความปลอดภัยที่สื่ออื่นหรือตามเวปไซด์  โดยไม่ได้แก้ชื่อบริษัทออก  อาจทำให้คนอื่นที่มาพบเห็นเข้าใจผิด นึกว่า บริษัทนั้น มาทำการรับเหมาหรือก่อสร้าง ซึ่งอาจเกิดผลกระทบด้านชื่อเส่ียงและเครื่องหมายการค้าได้    อยากจะย้ำเตือนเพื่อนๆ ที่รักความปลอดภัย ให้ระมัดระวังในเรื่องนี้ด้วยนะครับ 

จากการศึกษาวิจัยทางด้านพฤติกรรมได้แสดงให้เห็นว่าป้ายสัญลักษณ์ที่มีข้อความทั่วไปและไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดของพฤติกรรมที่ต้องการให้เกิดขึ้น (หรือ พฤติกรรมที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น) จะมีผลต่อพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริงน้อยมาก ในทางตรงข้าม ป้ายสัญลักษณ์ที่มีการระบุเจาะจงถึงพฤติกรรมไว้ด้วยจะมีประโยชน์เป็นอย่างมาก ดังนั้น จงอย่าคาดหวังว่าป้ายสัญลักษณ์หรือคำขวัญที่มีคำแนะนำทั่วไปเขียนไว้ เช่น "ตระหนักถึงความปลอดภัย" "ขจัดอุบัติเหตุ" หรือ "ไปให้ถึงเป้าหมายของเรา การบาดเจ็บต้องเป็นศูนย์" จะมีผลต่อพฤติกรรมให้มากนัก ในทางตรงกันข้ามนี้ เหตุชักนำ ที่เป็นการแสดงแนวทางการปฏิบัติเฉพาะเอาไว้จะมีผลต่อพฤติกรรมได้มากและในที่สุดก็จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บขึ้นได้ ข้อความเฉพาะที่ระบุไว้อาจเป็นการบอกพนักงานว่า ณ พื้นที่นั้นๆ จำเป็นต้องมีพฤติกรรมใดหรือต้องมีพฤติกรรมที่เหมาะสมอย่างไร (เช่น "เขตสวมหมวกนิรภัย" "พื้นที่สำหรับสูบบุหรี่" และ "ต้องสวมเครื่องป้องกันหู") หรือเป็นการบอกแนวทางวิธีการปฏิบัติที่ปลอดภัย (เช่น "ยกกล่องกระดาษด้วยกำลังขา 2 ข้าง" "ให้เดินภายในเส้นเหลือง" และ "คาดเข็มขัดนิรภัย")
ทั้งนี้ แม้ว่า "เหตุชักนำ" ดังกล่าวควรจะระบุถึงสิ่งที่จะต้องปฏิบัติหรือที่จะต้องหลีกเลี่ยงก็ตาม แต่ก็ไม่ควรระบุรายละเอียดให้มีความซับซ้อนจนมากเกินไป ป้ายสัญลักษณ์ที่มีข้อความเป็นจำนวนมากมักจะถูกมองข้ามไป และยิ่งเป็นป้ายสัญลักษณ์ที่มีรายละเอียดซับซ้อนและติดตั้งไว้เป็นเวลานานก็จะยิ่งถูกมองว่าเป็นเพียงสิ่งตกแต่งสถานที่อย่างหนึ่งเท่านั้น ป้ายสัญลักษณ์ที่มีข้อความชี้เฉพาะและอ่านง่าย แต่ติดตั้งไว้เป็นเวลานานแล้ว ก็อาจมีผลต่อพฤติกรรมลดน้อยลงตามระยะเวลาที่ผ่านไปได้เช่นกัน ดังนั้น คุณผู้อ่านควรพิจารณาแนวทางข้อที่ 2 ต่อไปนี้ด้วย

แนวทางที่ 2: สร้างความโดดเด่นและแปลกใหม่อยู่เสมอ


โดยปกติแล้ว "เหตุชักนำ" เช่น ข้อความในป้ายสัญลักษณ์ จะมีผลต่อพฤติกรรมลดน้อยลงตามระยะเวลาที่ผ่านไป โดยกระบวนการเช่นนี้ เรียกว่า "ความเคยชิน" ซึ่ง ความเคยชินนี้ ถือเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ง่ายที่สุด ในที่นี้ หมายความว่า คนเราจะมีการเรียนรู้ที่จะไม่ตอบสนองต่อเหตุการณ์ใดๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ กล่าวคือ ถ้าหากว่าเรามองไม่เห็นถึง "ผลที่เกิดขึ้นตามมา" (ดีหรือไม่ดี) จากการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นอย่างชัดเจนแล้ว เราก็จะหยุดการมีปฏิกิริยาต่อสิ่งกระตุ้นนั้นๆ และเราจะเกิดความรู้สึกว่าเป็นการเสียเวลาและเปล่าประโยชน์อย่างยิ่งที่จะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อ "เหตุชักนำ" ใดๆ ต่อไปถ้าหากว่าเราเห็นว่า "เหตุชักนำ" นั้นๆ ไม่มีความสำคัญอีกต่อไป
แล้วคำว่า "ความเคยชิน" เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยอย่างไร?
โดยธรรมชาติของมนุษย์นั้น จะมีการกระทำสิ่งใดๆ เป็นประจำเพื่อตอบสนองต่อ "เหตุชักนำ" ประจำวันที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมของเราโดยที่ไม่ได้มีการสนับสนุนจาก "ผลที่เกิดขึ้นตามมา" แต่อย่างใด และจากประเด็นนี้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับเรื่อง "เหตุชักนำ" ต่างๆ ในด้านความปลอดภัยเช่นกัน ดังนั้น เราก็ควรคำนึงไว้เสมอว่าป้ายสัญลักษณ์หรือคำขวัญชนิดเดียวกันก็อาจมีประสิทธิภาพที่ลดน้อยลงไปตามระยะเวลาได้ เว้นแต่ว่าได้มีการแสดงให้เห็นถึง "ผลที่เกิดขึ้นตามมา"สนับสนุนข้อความในป้ายสัญลักษณ์หรือในคำขวัญนั้นๆ
ป้ายสัญลักษณ์ที่มีการขอให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) อาจได้รับการละเลยในท้ายที่สุดก็เป็นไปได้ เช่น ถ้าหากว่าไม่มีการแสดงให้เห็นถึง "ผลที่เกิดขึ้นตามมา" ที่สนับสนุน "เหตุชักนำ" เป็นต้น และในที่นี้ ผู้เขียนไม่ได้หมายถึงเฉพาะเมื่อมีบทลงโทษในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามข้อความเท่านั้น ทั้งนี้ นอกจากคุณจะต้องกล่าวถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามมาในเชิงลบโดยทั่วไปของพฤติกรรมปลอดภัยส่วนใหญ่แล้ว (เช่น ความไม่สะดวก ความไม่สบาย การขาดประสิทธิภาพ) สิ่งจำเป็นอีกประการหนึ่งก็คือ คุณจะต้องแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามมาในเชิงบวกบางประการ (เช่น การแจ้งผลให้ทราบ หรือการกล่าวคำชมเชย) เพื่อสนับสนุนให้มีการปฏิบัติตาม "เหตุชักนำ" เพื่อให้เกิดพฤติกรรมปลอดภัยด้วย


แนวทางที่ 3: การเปลี่ยนข้อความ

 

"ความเคยชิน" บอกอะไรเราบ้างเกี่ยวกับการออกแบบ "เหตุชักนำ" ด้านความปลอดภัย?
สิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งก็คือ เราจำเป็นต้องทำให้ข้อความมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีความหลากหลายมากขึ้น เมื่อ "เหตุชักนำ" มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแล้ว "เหตุชักนำ" นั้นๆ ก็จะมีความโดดเด่นและสังเกตเห็นได้ง่ายมากขึ้น
เมื่อหลายปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ทราบถึงวิธีการเปลี่ยนแปลงข้อความในป้ายสัญลักษณ์ด้านความปลอดภัยมากมายหลายวิธี หนึ่งในนั้นก็คือ การใช้แผ่นไม้แบบมีช่องถอดได้สำหรับเปลี่ยนแผ่นข้อความอื่นเข้าไปแทน คุณผู้อ่านส่วนใหญ่คงจะได้เคยเห็นป้ายสัญลักษณ์ที่พิมพ์ออกมาจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีข้อความด้านความปลอดภัยมากมายหลายรูปแบบ โรงงานบางแห่งมีการฉายวิดีโอให้ชมในบริเวณสำหรับพนักงานนั่งพักช่วงเบรก บริเวณรับประทานอาหารกลางวัน ห้องรับรองบุคคลภายนอก และรวมถึงบริเวณทางเดินก็ได้มีการติดตั้งจอแสดงข้อความด้านความปลอดภัยมากมายหลายชนิด ซึ่งควบคุมได้อย่างสะดวกสบายผ่านระบบคอมพิวเตอร์
แล้วใครเป็นผู้กำหนดรายละเอียดของข้อความเหล่านี้กันล่ะ?
ผู้เขียนขอแนะนำว่า คนๆ นั้น ก็คือ ผู้รับสาร ซึ่งเป็นผู้ที่ได้เห็นป้ายสัญลักษณ์เหล่านี้นั่นเอง กล่าวคือ บุคคลที่ได้รับการคาดหวังว่าจะต้องมีการปฏิบัติตามคำแนะนำด้านพฤติกรรมเฉพาะใดๆ ซึ่งก็คือบุคคลที่ควรมีข้อมูลป้อนเข้าที่มากที่สุดเท่าที่จะมีได้สำหรับใช้ในการกำหนดเนื้อหาของข้อความนั่นเอง องค์กรหลายๆ แห่งได้รับข้อเสนอแนะมากมายในการจัดทำข้อความด้านความปลอดภัยจากการซักถามจากพนักงาน อย่างไรก็ดี ถ้าหากว่าพนักงานไม่เคยชินกับการให้ข้อเสนอแนะด้านความปลอดภัย พนักงานเหล่านั้นก็อาจจำเป็นต้องได้เห็นถึง "ผลที่เกิดขึ้นตามมา" ในเชิงบวกเพื่อกระตุ้นให้พนักงานเหล่านี้แสดงข้อมูลป้อนเข้าหรือข้อเสนอแนะออกมา ซึ่งเรื่องนี้จะมีส่วนเกี่ยวข้องแนวทางลำดับต่อไปนี้


แนวทางที่ 4: การมีส่วนร่วมของผู้รับสาร


ถึงตอนนี้แล้ว จะต้องทำความเข้าใจแนวทางข้อนี้ให้ชัดเจน แนวทางนี้เกี่ยวข้องกับการสร้างและดำเนินแผนการการให้คำแนะนำเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เมื่อพนักงานให้การสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อความปลอดภัยใดๆ แล้ว ความรู้สึกในการเป็นเจ้าของและเจตนารมณ์ที่มีต่อเรื่องความปลอดภัยและกระบวนการพัฒนาก็จะมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า แนวทางข้อที่ 4 นี้จะพิจารณาทั้งสองประเด็น จากนั้น เมื่อพนักงานรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของและมีเจตนารมณ์มากขึ้นแล้ว การมีส่วนร่วมในการก้าวไปสู่ความสำเร็จด้านความปลอดภัยก็มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ ก็เท่ากับว่า การมีส่วนร่วมทำให้เกิดความรู้สึกในการเป็นเจ้าของและเกิดเจตนารมณ์ที่ดี และในทางกลับกัน เมื่อเกิดความรู้สึกในการเป็นเจ้าของและเจตนารมณ์ที่ดี ก็ทำให้เกิดความรู้สึกการมีส่วนร่วม นั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่นการตั้งกลุ่มขึ้นร่วมกันช่วยดูแลถนนหนทางต่างๆ ให้ปราศจากเศษขยะและตกแต่งถนนด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ หรือดอกไม้สีสันสวยงาม และเมื่อบุคคลเกิดความรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของของพื้นที่สาธารณะเช่นนี้แล้ว ทุกคนก็จะช่วยกันดูแลรักษาให้พื้นที่สาธารณะดังกล่าวนี้ออกมาดูสวยงามและสะอาดอยู่เสมอนั่นเอง


แนวทางที่ 5: กระตุ้นใกล้กับช่วงเวลาที่จะเกิดการตอบสนองขึ้น


โดยทั่วไปแล้ว ยิ่งระยะเวลาระหว่างการแนะนำกับโอกาสในการปฏิบัติตามคำแนะนำนั้นสั้นเพียงใด ก็จะยิ่งมีความเป็นไปได้ที่จะมีการปฏิบัติตามนั้นมากขึ้นเพียงนั้น ด้วยเหตุนี้ ข้อความด้านความปลอดภัยที่มีอยู่ในบริเวณพื้นที่ปฏิบัติงานที่ควรมีการปฏิบัติพฤติกรรมที่ถูกกระตุ้นนั้นจะมีผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมากกว่าข้อความในลักษณะเดียวกันแต่เขียนไว้ในบันทึก จดหมายข่าว หรือในกิจกรรมการสนทนาเพื่อความปลอดภัย และในทำนองเดียวกันนี้ สำหรับในการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ วิธีการ "การโฆษณาที่จุดซื้อ" หรือการติดข้อความโฆษณา ณ บริเวณที่ต้องการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เป้าหมายนั้น จะเป็นรูปแบบการทำการตลาดผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
แนวทางในข้อนี้อธิบายว่าเพราะเหตุใดนักวิจัยจึงพบว่า ผู้ขับขี่รถยนต์มีการคาดเข็มขัดนิรภัยมากขึ้นเมื่อมีป้ายข้อความคำว่า "คาดเข็มขัดนิรภัย" ติดไว้บริเวณทางเข้าออกที่จอดรถและบริเวณสี่แยก มากกว่าข้อความเดียวกันที่ไปปรากฏอยู่ในโทรทัศน์ ในทำนองเดียวกันนี้ ป้ายสัญลักษณ์บนท้องถนนที่มีการแสดงผลให้ผู้ขับขี่ได้ทราบถึงเปอร์เซ็นต์ของรถยนต์ที่ขับขี่รวดเร็วเกินกว่าความเร็วสูงสุดที่กำหนดนั้นพบว่ามีผลทำให้ผู้ขับขี่ที่พบเห็นป้ายดังกล่าวมีการขับขี่ในความเร็วที่ลดน้อยลง ส่วนการประกาศในวิทยุและโทรทัศน์ของทางหน่วยงานราชการเกี่ยวกับความปลอดภัยในการขับขี่ยานพาหนะ พบว่า มีผลต่อพฤติกรรมน้อยที่สุด จากประเด็นนี้ สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนมากที่สุด ก็คือ เหตุชักนำ ที่มีประสิทธิภาพในการลดความเร็วมากที่สุด ก็คือ เสียงสัญญาณของเครื่องตรวจจับความเร็ว ซึ่ง เหตุชักนำ นี้ ไม่เพียงแต่จะมีความโดดเด่น มีการชี้เฉพาะในการตอบสนอง และเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่จะเกิดการตอบสนองขึ้นเท่านั้น แต่ยังนำพาไปสู่แนวทางลำดับสุดท้ายที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้อีกด้วย


แนวทางที่ 6: แสดงให้เห็นถึง "ผลที่เกิดขึ้นตามมา"


     เสียงสัญญาณของเครื่องตรวจจับความเร็วข้างต้นจะมีประสิทธิภาพอย่างมากในการกระตุ้นให้ลดความเร็วของยานพาหนะ เพราะว่าเป็นการทำให้ผู้ขับขี่หลีกเลี่ยงผลที่จะเกิดขึ้นตามมาในเชิงลบ นั่นก็คือ การถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับ จากการศึกษาวิจัยภายสนามได้แสดงให้เห็นว่า "เหตุชักนำ" ที่ไม่ได้แสดงให้เห็นถึง "ผลที่เกิดขึ้นตามมา" นั้นสามารถส่งผลต่อพฤติกรรมบางพฤติกรรมได้เมื่อ "เหตุชักนำ" นั้นๆ มีความโดดเด่นและมีการแสดงให้เห็นในช่วงเวลาใกล้เคียงที่จะมีพฤติกรรมเป้าหมายที่ระบุไว้ และสิ่งที่คุณจะต้องจดจำให้ขึ้นใจก็คือ พฤติกรรมเป้าหมายในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายเป็นอย่างมาก ซึ่งได้แก่ การทิ้งใบปลิวที่ได้รับแจกมาลงในถังขยะที่จัดไว้ การเลือกสินค้าบางชนิดและการใช้แว่นตานิรภัยและเข็มขัดนิรภัยที่มี ทั้งนี้ มีหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นว่า "เหตุชักนำ" เพียงอย่างเดียวจะใช้ไม่ได้ผล ถ้าการที่จะเกิดพฤติกรรมเป้าหมายใดๆ จำเป็นต้องใช้ความพยายามมากขึ้นหรือเกิดขึ้นได้ยากลำบากกว่าปกติ


    "เหตุชักนำ" ที่มีการแสดงให้เห็นว่าถึง "ผลที่เกิดขึ้นตามมา" ด้วยนั้น อาจเป็นได้ทั้งการกระตุ้นและการห้ามปราม โดยการกระตุ้นนี้ เป็นการแจ้งให้กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลได้รับทราบว่าจะมีการให้รางวัลในภายหลัง ซึ่งการแจ้งให้ทราบนี้อาจเป็นได้ทั้งการแจ้งด้วยวาจาหรือการแจ้งที่เป็นลายลักษณ์อักษร "ผลที่เกิดขึ้นตามมา" อันน่าพึงพอใจนี้ (ได้รับรางวัล) จะเกิดขึ้นเมื่อมีพฤติกรรมหนึ่งๆ เกิดขึ้นหรือเป็นผลลัพธ์ของพฤติกรรมหนึ่งหรือหลายพฤติกรรม ในทางตรงข้าม การห้ามปราม ก็คือ เหตุชักนำ ที่แจ้งให้รู้หรือส่งสัญญาณให้ทราบถึงความเป็นไปได้ที่จะได้รับการลงโทษ ซึ่ง "ผลที่เกิดขึ้นตามมา" อันไม่น่าพึงพอใจนี้ (ถูกลงโทษ) จะเกิดขึ้นเมื่อมีพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ใดๆ เกิดขึ้น


    ผลการศึกษาวิจัยได้แสดงไว้อย่างน่าเชื่อถือว่าผลของการประกาศคำสั่งทางกฎหมายใดๆ จะแตกต่างกันออกไปโดยจะขึ้นอยู่กับปริมาณการเผยแพร่ของสื่อ ซึ่งถือเป็น การห้ามปราม ในทำนองเดียวกันนี้ ความสำเร็จของแผนการกระตุ้นนั้นจะขึ้นอยู่กับการทำให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้รับทราบถึงรางวัลที่พวกเขาอาจจะได้รับ โดยสรุป กล่าวได้ว่า การทำให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นตามมาทั้งในแง่บวกและในแง่ลบ พร้อมกับ เหตุชักนำ (การกระตุ้น หรือ การห้ามปราม) นั้น เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การแสดง "ผลที่เกิดขึ้นตามมา" ประสบความสำเร็จนั่นเอง


      ทั้งนี้ บางคนได้เพิ่ม "ผลที่เกิดขึ้นตามมา" ภายในจิตใจของตนเองเข้าไปใน "เหตุชักนำ" หนึ่งๆ โดยคนเหล่านี้อาจปฏิบัติตามกฎกติกาด้านความปลอดภัยเพื่อทำเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่นหรือเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตำหนิจากผู้อื่น ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าเราจะพูดถึง "ผลที่เกิดขึ้นตามมา" จากโลกภายนอกหรือจากภายในจิตใจของตัวเองก็ตาม ถ้าหากว่า เหตุชักนำได้แสดงให้เห็นถึง "ผลที่เกิดขึ้นตามมา" นั้นๆ ได้ "ผลที่เกิดขึ้นตามมา" ใดๆ ก็จะมีประสิทธิภาพเป็นอย่างมากแน่นอน ทั้งนี้ "การกำหนดเป้าหมาย" จะเป็นตัวกระตุ้นและควบคุมพฤติกรรมให้เกิดขึ้นภายใต้ขอบเขตที่จะสามารถบรรลุ "ผลที่เกิดขึ้นตามมา" ได้โดยการไปให้ถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ดังกล่าว

 

สรุป
       ในชีวิตเรา เราจะถูกรุกเร้าด้วยสิ่งกระตุ้นหรือเหตุชักนำอยู่เสมอ เมื่อเราอยู่ที่บ้าน จะมีโทรศัพท์ขายสินค้า/บริการมาหา จดหมายประชาสัมพันธ์ต่างๆ โฆษณาในโทรทัศน์ และคำเรียกร้องต่างๆ จากสมาชิกในครอบครัว เมื่อเราอยู่ที่ทำงาน จะมีทั้งโทรศัพท์ จดหมาย อีเมล์ บันทึก ประกาศนโยบายบริษัท และคำพูดแนะนำต่างๆ จากหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงาน เมื่อเราอยู่บนถนน สิ่งที่เราจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยก็คือ ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ สัญญาณไฟจราจร โฆษณาที่ติดตามยานพาหนะ โฆษณาในวิทยุ และการสื่อสารต่างๆ ทั้งจากคนที่อยู่ภายในและภายนอกรถยนต์ของเรา ซึ่งจะเห็นได้ว่า มี "เหตุชักนำ" อยู่อย่างมากมายรอบตัวเรา แต่ "เหตุชักนำ" เพียงบางส่วนเท่านั้นที่จะมีผลต่อพฤติกรรมของเราได้จริงๆ ด้วยเหตุนี้ เมื่อเรามีความเข้าใจในหลักการแนวทางทั้ง 6 ประการที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงไว้นี้ ก็จะช่วยให้เราสามารถคาดการณ์ได้ว่า "เหตุชักนำ" ตัวใดที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้นั่นเอง


       สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ ในชีวิตของเรานั้น เราไม่ต้องการ "เหตุชักนำ"มากมายอะไร หากแต่จริงๆ แล้วเราต้องการ "เหตุชักนำ ที่มีประสิทธิภาพ" ที่จะมาส่งเสริมด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยเท่านั้น ดังนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เราก็ควรเลือกใช้ "เหตุชักนำ" ด้านความปลอดภัยจำนวนไม่มากนัก ซึ่งจะมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าการที่เราใส่ "เหตุชักนำ" มากมายเข้าไปในระบบหนึ่งๆ ที่มีข้อมูลต่างๆ มากมายอยู่แล้ว เราต้องวางแผนเรื่อง "เหตุชักนำ" ด้านความปลอดภัยนี้อย่างรอบคอบ เพื่อให้พนักงานเกิดความสนใจในข้อเสนอแนะด้านความปลอดภัยที่ถูกต้องและมีการปฏิบัติที่ถูกต้องต่อไป


คัดลอกบทความจากสยามเซฟตี้

Visitors: 569,269