SDS และ MSDS เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ?

นรุตม์ชัย ชมภูเทพ 
ที่ปรึกษา อาชีวอนามัยและความปลอดภัย 
narutchai.c@npc-se.co.th 
บริษัท เอ็นพีซี เซฟตี้ แอนด์ เอนไวรอนเมนทอล เซอร์วิส จำกัด

 

 

 

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับความหมายของ SDS และ MSDS ก่อนนะครับว่า คืออะไร 

SDS ย่อมาจาก Safety Data Sheet และ MSDS ย่อมาจาก Material Safety Data Sheet คือ เอกสารที่แสดงข้อมูลเฉพาะของสารเคมีแต่ละตัวเกี่ยวกับลักษณะความเป็นอันตราย พิษ วิธีใช้ การเก็บรักษา การขนส่ง การกำจัดและการจัดการอื่นๆ เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับสารเคมีนั้นเป็นไปอย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยข้อมูลที่แสดงในเอกสารต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด 1/ ซึ่ง SDS หรือ MSDS ก็มีความหมายอย่างเดียวกัน คือ เป็นเอกสารที่ให้ข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมี เพียงแต่ว่าในบางกลุ่มประเทศอาจจะเรียกชื่อต่างกันไป เช่น 

- องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization, ILO) และที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (United Nations Conference on Environment and Development, UNCED) ตลอดจนอีกหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เรียก MSDS (Material Safety Data Sheet) 

- กลุ่มสหภาพยุโรป เรียก SDS (Safety Data Sheet) 

- ประเทศมาเลเซีย เรียก CSDS (Chemical Safety Data Sheet)

 



ปัจจุบันนี้ ตามประกาศของสหประชาชาติ เรื่องระบบการจำแนกและการติดฉลากสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก (The Globally Harmonized System of Classification and Labelling of Chemicals, GHS) กาหนดให้เรียก SDS (Safety Data Sheet) เพียงอย่างเดียว เพื่อให้สอดคล้องและเป็นระบบเดียวกัน ซึ่ง SDS ตามระบบ GHS จะประกอบไปด้วย 16 หัวข้อ 2/ ดังนี้ 

1. ข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมี บริษัทผู้ผลิตและหรือจำหน่าย (identification) แสดงชื่อผลิตภัณฑ์ที่เหมือนกับที่แสดงบนฉลากของผลิตภัณฑ์ ชื่อสารเคมี วัตถุประสงค์การใช้งานของผลิตภัณฑ์ ชื่อที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ผลิต ผู้นำเข้าหรือผู้จัดจำหน่าย และหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน 

2. ข้อมูลความเป็นอันตราย (hazards identification) โดยระบุว่า 

# เป็นสารเคมีหรือเคมีภัณฑ์อันตรายหรือไม่ และเป็นสารประเภทใดตามเกณฑ์การจัดประเภทความเป็นอันตรายและระบุความเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมด้วย 

# ลักษณะความเป็นอันตรายที่สำคัญที่สุดของสารเคมีหรือเคมีภัณฑ์ ผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อม และอาการที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้และการใช้ที่ผิดวิธี 

# ความเป็นอันตรายอื่น ๆ ถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะไม่ได้จัดอยู่ในประเภทของความเป็นอันตรายตามข้อกำหนด 

3. ส่วนประกอบและข้อมูลเกี่ยวกับส่วนผสม (composition/information on ingredients) ระบุสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบในเคมีภัณฑ์ ปริมาณความเข้มข้นหรือช่วงของความเข้มข้นของสารเคมีที่เป็นส่วนผสมของเคมีภัณฑ์ แสดงสัญลักษณ์ประเภทความเป็นอันตราย และรหัสประจำตัวของสารเคมี 

4. มาตรการปฐมพยาบาล (first aid measures) ระบุวิธีการปฐมพยาบาลที่พิจารณาถึงคุณสมบัติและความเป็นอันตรายของสาร และความเหมาะสมกับลักษณะของการได้รับหรือสัมผัสกับสารนั้น รวมทั้งการใช้อุปกรณ์ในการช่วยเหลือเป็นพิเศษสำหรับเคมีภัณฑ์บางอย่าง 

5. มาตรการผจญเพลิง (fire fighting measures) แสดงข้อมูลเกี่ยวกับการดับเพลิงเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้อันเนื่องมาจากสารเคมีหรือเคมีภัณฑ์ ประกอบด้วย วัสดุที่เหมาะสมสำหรับการดับเพลิง วัสดุที่ไม่เหมาะสมสำหรับการดับเพลิง ความเป็นอันตรายที่จะเกิดขึ้นเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ ความเป็นอันตรายที่เกิดจากการเผาไหม้ของผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ที่ใช้ในการป้องกันภัยสำหรับผู้ผจญเพลิงหรือพนักงานดับเพลิง และคำแนะนำอื่นๆ ในการดับเพลิง 

6. มาตรการจัดการเมื่อมีการหกรั่วไหล (accidental release measures) ครอบคลุมถึง การป้องกันส่วนบุคคลเพื่อไม่ให้ได้รับอันตรายในการจัดการสารเคมีหรือเคมีภัณฑ์ที่หกรั่วไหล การดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม และวิธีทำความสะอาด เช่น การใช้วัสดุในการดูดซับ เป็นต้น 

7. การใช้และการจัดเก็บ (handling and storage) ครอบคลุมถึง ข้อปฏิบัติในการใช้ทั้งเรื่องการจัดเก็บ สถานที่และการระบายอากาศ มาตรการป้องกันการเกิดละอองของเหลว มาตรการเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม การเก็บรักษาอย่างปลอดภัย และข้อบ่งใช้พิเศษ 

8. การควบคุมการได้รับสัมผัสและการป้องกันส่วนบุคคล (exposure controls/personal protection) ครอบคุลมถึง ปริมาณที่จำกัดการได้รับสัมผัส สาหรับผู้ปฏิบัติงานกับสารเคมีนั้น (exposure limit values) การควบคุมการได้รับสัมผัสสาร (exposure controls) เช่น หน้ากาก ถุงมือที่ใช้ป้องกันขณะปฏิบัติงาน และความรับผิดชอบของผู้ใช้สารเคมีตามกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันสิ่งแวดล้อม หากทำรั่วไหลปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม 

9. สมบัติทางกายภาพและเคมี (physical and chemical properties) ประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไป เช่น ลักษณะที่ปรากฏ กลิ่น เป็นต้น ข้อมูลที่สำคัญต่อสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม เช่น ความเป็นกรด-ด่าง (pH)จุดเดือด/ช่วงการเดือด จุดวาบไฟ ความไวไฟ สมบัติการระเบิด ความดันไอ อัตราการระเหย เป็นต้น และข้อมูลอื่น ๆ ที่เป็นตัวแปรเกี่ยวกับความปลอดภัย 

10. ความเสถียรและการเกิดปฏิกิริยา (stability and reactivity) แสดงข้อมูลที่ครอบคลุมถึง สภาวะที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น รายการของสภาวะต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุให้สารเคมีหรือเคมีภัณฑ์เกิดปฏิกิริยาที่อันตราย วัสดุที่ควรหลีกเลี่ยง และสารอันตรายที่เกิดจากการสลายตัวของสารเคมีหรือเคมีภัณฑ์ 

11. ข้อมูลด้านพิษวิทยา (toxicological information) คำอธิบายที่สั้นและชัดเจนถึงความเป็นอันตรายที่มีต่อสุขภาพจากการสัมผัสกับสารเคมีหรือเคมีภัณฑ์ที่ได้จากการค้นคว้าและบทสรุปของการทดลองทางวิทยาศาสตร์ จำแนกข้อมูลตามลักษณะและช่องทางการรับสัมผัสสารเข้าสู่ร่างกาย เช่น ทางการหายใจทางปาก ทางผิวหนัง และทางดวงตา เป็นต้น และข้อมูลผลจากพิษต่าง ๆ เช่น ก่อให้เกิดอาการแพ้ ก่อมะเร็ง เป็นต้น 

12. ข้อมูลด้านระบบนิเวศ (ecological information) ระบุถึงการเปลี่ยนแปลงและการสลายตัวของสารเคมีในสิ่งแวดล้อมและความเป็นไปได้ของผลกระทบ และผลลัพธ์ต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผลที่ได้จากการทดสอบ เช่น ข้อมูลความเป็นพิษที่มีต่อสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในน้า (ecotoxicity), ระดับปริมาณที่ถูกปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม (mobility)ระดับ/ความสามารถในการคงอยู่และสลายตัวของสารเคมีหรือส่วนประกอบเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อม (persistance and degradability) และ ระดับหรือปริมาณการสะสมในสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม (bioaccumulative potential) 

13. ข้อพิจารณาในการกำจัด (disposal considerations) ระบุวิธีการกำจัดสารเคมีหรือเคมีภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม และถ้าการกำจัดสารเคมีหรือเคมีภัณฑ์มีความเป็นอันตรายต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับส่วนที่เหลือจากการกาจัด และข้อมูลในการจัดการกากอย่างปลอดภัย 

14. ข้อมูลสำหรับการขนส่ง (transport information) แสดงข้อมูลเกี่ยวกับการขนส่งที่ผู้ใช้จำเป็นต้องรู้ หรือใช้ติดต่อสื่อสารกับบริษัทขนส่ง 

15. ข้อมูลเกี่ยวกับกฎข้อบังคับ (regulatory information) แสดงข้อมูลกฎหมายหรือข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมของสารเคมี 

16. ข้อมูลอื่นๆ (other information) แสดงข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดเตรียม SDS ที่ผู้จัดจำหน่ายประเมินแล้วเห็นว่าเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญ และไม่ได้แสดงอยู่ในหัวข้อ 1-15 เช่น ข้อมูลอ้างอิง แหล่งข้อมูลที่รวบรวม ข้อมูลการปรับปรุงแก้ไข คำย่อ เป็นต้น 

ในประเทศไทย มีการปฏิบัติในการจัดทำ SDS นี้อย่างไร



ปัจจุบันในประเทศไทยมีกฎหมายหลักๆ อยู่ 3 ฉบับที่กำหนดให้มีการจัดทำ SDS ตามรูปแบบของ GHS คือ 

1. ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง ระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย พ.ศ. 2555 3/ ได้กล่าวไว้ในข้อ 2 คือให้ผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าซึ่งวัตถุอันตรายที่เป็นสารเดี่ยวและสารผสมต้องดำเนินการตามข้อกาหนดว่าด้วยระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย แนบท้ายประกาศนี้ โดยในข้อ 2.3 ได้มีการกำหนดให้มีการจัดทำเอกสารข้อมูลความปลอดภัยเพื่อใช้ในการสื่ออันตราย โดยจะพบว่าหัวข้อของเอกสารข้อมูลความปลอดภัยตามแนบท้ายประกาศจะเหมือนกับ SDS ของระบบ GHS 

2. ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง แบบบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายและรายละเอียดข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีอันตราย 4/ ได้กล่าวไว้ในข้อ 2 แบบบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายและรายละเอียดข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีอันตราย (สอ. 1) ให้เป็นไปตามแบบท้ายประกาศนี้ ซึ่งเมื่อดูในรายละเอียดของประกาศฉบับนี้แล้วรายละเอียดหัวข้อของการจัดทำสอ.1 จะมีหัวข้อเหมือนกับ SDS ของระบบ GHS เช่นกัน 

3. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย ที่สานักงานคณะกรรมการอาหารและยารับผิดชอบ พ.ศ. 2558 5/ ได้กล่าวไว้ในข้อ 2 ให้ผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าซึ่งวัตถุอันตรายที่เป็นสารเดี่ยวหรือสารผสม ต้องดำเนินการจำแนกประเภทความเป็นอันตราย ติดฉลากวัตถุอันตราย และจัดทำเอกสารข้อมูลความปลอดภัยตามข้อกาหนดว่าด้วยระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายแนบท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยเรื่องระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย 

ผมเชื่อว่าข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมี ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไรก็ตาม จะเรียกว่า SDS หรือ MSDS นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ หากเพียงแต่ว่าความสาคัญจริง ๆ นั้นอยู่ที่ผู้ใช้หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้ศึกษาและนำข้อมูลที่มีอยู่มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์และปฏิบัติตามอย่างจริงจังหรือไม่ ผมหวังว่าบทความฉบับนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับท่านผู้อ่าน ทุกท่าน นะครับ

 

******************



ที่มาของข้อมูล : 

1/ ธิดารัตน์ คล่องตรวจโรค หน่วยข้อสนเทศวัตถุอันตรายและความปลอดภัย, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

2/ Annex 4 : Guidance on the Preparation of Safety Data Sheets, Globally Harmonized System of Classification and Labeling of Chemicals (GHS), 4thed., United Nations, 2011. 

3/ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ระบบการจาแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย พ.ศ. 2555 

4 /ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง แบบบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายและรายละเอียดข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีอันตราย 

5/ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบบการจาแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายที่สานักงานคณะกรรมการอาหารและยารับผิดชอบ พ.ศ. 2558

 
 
ที่มา : www.npc-se.co.th     21พ.ค.2558
Visitors: 569,464