การควบคุมและความปลอดภัยของสารเคมีอันตราย

สวัสดีครับ
ผมขออนุญาต นำความรู้จากที่ได้อ่านพบจาก NPC มาแชร์เผยแพร่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
การควบคุม และป้องกันอันตรายจากสารเคมี
จากความพยายามในการพัฒนาประเทศของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายรวมทั้งประเทศไทยให้ทัดเทียมประเทศอุตสาหกรรม ทำให้มีการผลิตและนำเข้าสารเคมีสำหรับเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าต่างๆ ทางอุตสาหกรรม ทั้งเพื่อการใช้ภายในประเทศและเพื่อการส่งออก ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพสำหรับผู้ทำงานเกี่ยวข้อง เช่น การเกิดโรคพิษตะกั่วในคนงานหลอมตะกั่ว การเกิดโรคซิลิโคลิสในคนงานขัดพ่นด้วยทราย และโรคจากพิษสารทำละลายต่างๆที่มีการใช้อย่างแพ่รหลาย ในอุตสาหกรรมต่างๆเป็นต้น


ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากสารเคมีนับวันจะเพิ่มมากขึ้น การสัมผัสเกิดขึ้นได้ทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง สถานประกอบกิจการจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจและตระหนักถึงพิษภัยจากสารเคมี

 

ในการควบคุม และป้องกันอันตรายจากสารเคมี สถานประกอบกิจการต่างๆ จะมีรูปแบบที่หลากหลายแตกต่างกันไปขึ้นกับปัจจัย เช่น ขนาดองค์กร การจัดโครงสร้างการจัดการ และความรู้เป็นต้น แต่โดยหลักการใหญ่ๆ แล้วจะพิจารณาใน 3 ส่วนคือ


1. แหล่งกำเนิดสารเคมีอันตราย
2. ทางผ่านของสารเคมีอันตราย
3. ผู้รับสัมผัสจากสารเคมีอันตราย

 

โดยการควบคุม และป้องกันที่ดีที่สุด คือ การควบคุมและป้องกันจากแหล่งกำเนิด เนื่องจากเป็นการจัดการปัญหาที่ต้นเหตุ ในหลักการต่างๆ จะประกอบด้วยวิธีต่างๆ มากมายอาจสรุปได้ดังตารางต่อไปนี้

สำหรับแนวทางการจัดการนั้น ได้มีการเสนอวิธีการควบคุมและป้องกันอันตรายจากสารเคมี ในลักษณะของกระบวนการประกอบด้วย ขั้นตอนต่างๆดังนี้


1. การตระหนัก และการประเมินถึงอันตรายจากสารเคมี
เป็นขั้นตอนแรกที่มีความสำคัญมาก ผู้ดำเนินการควบคุมและป้องกันอันตรายจากสารเคมี จะต้อง ความรู้หลายๆส่วน เช่น รู้ว่าสารเคมีนั้นคืออะไร ชื่อสามัญและชื่อทางเคมี ความเข้มข้น คุณสมบัติทางแคมี และทางกายภาพ มีกระบวนการทำงานและใช้สารเคมีในขั้นตอนใด กระบวนการผลิตปิดมิดชิดหรือไม่ ผู้ทำงานมีโอกาสสัมผัสกับสารพิษหรือไม่ มีการควบคุมสารพิษทางด้านวิศวกรรมอย่างไร และของเสียจากกระบวนการผลิตกำจัดอย่างไร เป็นต้น สรุปได้ว่าจะต้องมีความรู้ใน 3 ส่วน คือ


1. ตัวสารเคมีที่เป็นต้นเหตุ
2. ตัวผู้รับสัมผัส หรือผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องโดยตรง
3. กระบวนการผลิต ซึ่งมีการใช้สารเคมีนั้นๆ

 

ความรู้ต่างๆ อาจได้มาจากการสอบถามฝ่ายผลิต ผู้จัดการโรงงาน นักวิชาการค้นคว้าจากเอกสารทางวิชาการ ข้อมูลที่ได้นำมาใช้พิจารณาประกอบกับการประเมินอันตรายจากสารเคมี โดยมีวิธีการประเมิน 2 ขั้นตอน ประกอบด้วย


ขั้นตอนที่1 วิธีการเดินสำรวจ (walk through survey) อาจมีการใช้เครื่องมืออย่างง่ายที่สามารถอ่านค่าโดยตรงร่วมด้วย ข้อมูลจากขั้นตอนนี้ จะนำมาใช้ในการวางแผนการเก็บตัวอย่าง


ขั้นตอนที่2 การสำรวจอย่างละเอียด มีการเก็บตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์หาชนิด และปริมาณเปรียบเทียบกับมาตรฐาน ผลจากการประเมิน ทำให้ทราบว่าลักษณะงานนั้นๆเป็นอย่างไร มีสารเคมีปนเปื้อนในอากาศหรือไม่ ผู้ปฏิบัติงานมีความเสี่ยงต่อการสัมผัสเพียงใด และจะแก้ไขอย่างไร


2. การจัดลำดับความเป็นอันตรายของสารเคมี
ผลจากการประเมินจะนำมาใช้ในการจัดลำดับความสำคัญของอันตราย เพื่อพิจารณาว่าปัญหาใดมีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ที่จะต้องดำเนินการแก้ไข ในการจัดลำดับความสำคัญอาจพิจารณาถึงปัจจัย ในเรื่องความรุนแรงของอันตราย และความเป็นไปได้ของการแก้ไข


3. การเตรียมข้อมูล เพื่อการตัดสินใจสั่งการของผู้บริหาร
เมื่อได้ลำดับความสำคัญแล้ว จึงนำเสนอผู้บริหาร หรือผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจสั่งการ โดยจัดทำเป็นรายงานสรุป แสดงถึงปัญหาที่พบ สถานที่ที่พบปัญหา ขนาดปัญหาเมื่อเทียบกับมาตรฐาน ลำดับความสำคัญของปัญหาแนวทางแก้ไข ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแก้ไขปัญหา และผู้รับผิดชอบ เป็นต้น

4. การดำเนินมาตรการในการควบคุมและป้องกัน
เมื่อผู้บริหารอนุมัติให้ดำเนินการแล้ว จึงดำเนินการแก้ไข โดยการควบคุมปัญหา และป้องกันมิให้เกิดปัญหาในอนาคต ในการควบคุมและป้องกันอันตรายจากสารเคมี เราไม่อาจเลือกใช้วิธีการใดๆ เพียงวิธีเดียว จำเป็นต้องนำวิธีการต่างๆมาใช้ร่วมกันอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด


5. การประเมินผลการควบคุม และป้องกัน
เป็นขั้นตอนสุดท้าย โดยดำเนินการประเมินตามตัวชี้วัดในระดับผลลัพธ์ หรือวัตถุประสงค์ของโครงการ หรือแผนงานที่กำหนดไว้ เช่น กำหนดว่าจะลดความเข้มข้นของสารพิษในอากาศให้ต่ำกว่ามาตรฐาน ผลจากการดำเนินการแก้ไขแล้ว ความเข้มข้นของสารพิษอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐานหรือไม่เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถประเมินผลโครงการตามตัวชี้วัด ในระดับผลผลิต เพื่อดูประสิทธิภาพของโครงการ หรือแผนงาน เช่น การใช้งบประมาณ เวลา และทรัพยากรอื่นๆ เป็นต้น การควบคุม และป้องกันอันตรายจากสารเคมีนั้น นอกจากจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ต่างๆ มากมาย ทั้งสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต และตัวผู้รับสัมผัสแล้ว ยังต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เช่น วิศวกร นักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม แพทย์และพยาบาล ตลอดถึงความรู้ความเข้าใจ และความร่วมมือของคนงานที่รับสัมผัสสารเคมี
ดังนั้น การคิดพิจารณาอย่างเป็นระบบด้วยความรอบคอบระมัดระวัง และไม่ประมาท จะเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อความสำเร็จในการควบคุม และป้องกันอันตรายจากสารเคมีในสถานประกอบกิจการได้


*** เอกสารอ้างอิง
• เอกสารการสอนชุดวิชา สุขศาสตร์อุตสาหกรรมพื้นฐาน หน่วยที่13 “การควบคุมและป้องกันอันตรายจากสารเคมี” สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
• ฝ่ายวิชาการ ศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานพื้นที่1 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ

ที่มา : she.cpportal.net 24พ.ย.2553

Visitors: 569,452