จะเสริมสร้างความผูกพันของคนต่อองค์กร เพื่อการธำรงรักษาคนไว้ได้อย่างไร?

โดย: smile2057 [IP: 171.7.3.xxx]
เมื่อ: 2015-11-19 22:05:33


จะเสริมสร้างความผูกพันของคนต่อองค์กร เพื่อการธำรงรักษาคนไว้ได้อย่างไร?

เมื่อองค์กรรับคนเข้ามาทำงาน คงต้องมีความคาดหวังเหมือนกันอยู่เรื่องหนึ่ง คือ คาดหวังที่จะให้คนที่เข้ามาร่วมงานมีคุณสมบัติตรงตามลักษณะงานในตำแหน่งงาน นั้น ๆ และอยู่กับองค์กรไปนาน ๆ พร้อม ๆ กับมีศักยภาพที่จะเติบโตไปพร้อมกับองค์กรในอนาคตได้



ในยุคปัจจุบันนี้การหาคนว่ายากแล้ว การรักษาคนไว้กับองค์กรยิ่งยากกว่า !



ลองมาดูกันสิครับว่า เราจะมีวิธีการรักษาคนไว้ให้อยู่กับองค์กรกันอย่างไรบ้าง



แนวทางการเสริมสร้างความผูกพันของคนต่อองค์กร



1.ได้ทำงานกับผู้นำที่มีความน่าเคารพศรัทธา (working for admired leaders)



แน่นอนว่าใครก็คงอยากจะได้หัวหน้างานที่มีความน่าเลื่อมใส น่าเคารพศรัทธา สามารถไหว้ได้โดยสนิทใจ ไม่ต้องไปคิดตะขิดตะขวงใจทีหลังใช่ไหมครับ



ดังนั้น ลองหันกลับมาสำรวจตัวผู้บังคับบัญชาในแต่ละระดับดูสิครับว่าได้ประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่าง (role model) ให้ลูกน้องเลื่อมใสศรัทธา เชื่อถือไว้วางใจมากน้อยแค่ไหน



2.มีสัมพันธภาพในการทำงานที่ดีกับ คนรอบข้าง (having positive working relationships)



ในเรื่องนี้ผมเห็นในหลายองค์กร ก็มักจะจัดให้พนักงานมีกิจกรรมร่วมกันทั้งในงาน (เช่น การจัดฝึกอบรม, การประชุม, การสัมมนา ฯลฯ)



และนอกงาน เช่น การจัดตั้งชมรม, กิจกรรมสาธารณประโยชน์, การไปทำบุญร่วมกันของพนักงานกับบริษัท, การจัดงานเลี้ยงต่าง ๆ, การจัดแข่งกีฬาภายใน ฯลฯ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะมีส่วนช่วยให้เกิดความผูกพันในระหว่างคนในองค์กรได้เป็นอย่างดี



3.ได้ทำงานที่สำคัญและมีความหมาย (doing meaningful work) คงไม่มีใครที่อยากทำงานที่ใคร ๆ ก็ไม่เห็นคุณค่า หรือมองไม่เห็นความสำคัญ



เพราะจิตวิทยาเบื้องต้นของมนุษย์ คือ ความต้องการเป็นคนสำคัญอยู่เสมอ



พนักงานหลายคนยังไม่ลาออกจากองค์กรก็เพราะยังได้ทำงานที่เขามีส่วนร่วมในงานสำคัญ



ซึ่งผู้บริหารที่เข้าใจหลักการนี้ก็จะมอบหมายงานที่ท้าทายและมีความสำคัญเพื่อผูกใจพนักงานไว้กับงานครับ



4.ได้รับการยอมรับและชื่นชมจากองค์กร (recognition and appreciation)



เมื่อพนักงานคนใดทำงานสำคัญ ๆ (จากข้อ 3) จนประสบความสำเร็จแล้วก็เป็นเรื่องที่องค์กรควรจะต้องหาวิธีการในการให้การยอมรับและชื่นชม



ที่ผมเห็นมาในหลายองค์กรอาจจะจัดทำในรูปของ dinner talk โดยเชิญ ผู้บริหารมาเข้าร่วมฟัง success story ของพนักงานที่ทำงานสำคัญ ๆ จนกระทั่งประสบความสำเร็จ



พร้อมทั้งมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความคิดเห็นเพื่อต่อยอดของความรู้จากภายใน หรือที่เรียกกันว่า "deep smart" จากพนักงานคนนั้น



ตรงนี้ถือเป็นการทำ knowledge sharing ในองค์กรได้เป็นอย่างดี เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวเลยนะครับ



5.สามารถสร้างความสมดุลในตัวเองได้ดี (living a balanced life)



ในเรื่องนี้คงจะต้องเป็นการสร้างร่วมกันระหว่างตัวคนและองค์กร



นั่นคือตัวคนเองก็จะต้องมีการจัดสมดุลระหว่างชีวิตการทำงาน (working life) กับชีวิตส่วนตัว (home life) ให้ดีอย่าให้ล้ำกันมากเกินไป



ในขณะที่องค์กรก็จะต้องไม่มีนโยบายที่จะ "รีด" ผลงานออกมาจากคนจนเกินลิมิต เช่น ให้ทำล่วงเวลาต่อเนื่องโดยมีค่าล่วงเวลาเข้าล่อใจต่อ ๆ กันเป็นปี ๆ จนกระทั่งพนักงานเกิดความล้าจนกรอบและเสียสมดุลจนต้องลาออกจากงานไปในที่สุด



6.ได้รับการสอนงานและสนับสนุน (coaching and work support)



ผมยังยืนยันว่าเครื่องมือในการพัฒนาพนักงานที่ดีที่สุดก็คือ "การสอนงาน"



และคนที่จะเป็นครูสอนงานได้ดีที่สุดก็คือ "หัวหน้างาน" ในทุกระดับนั่นแหละครับ



หากพนักงานทำงานแล้วได้รับการ สอนงาน ได้เรียนรู้จากหัวหน้างานอย่างต่อเนื่องแล้วย่อมจะเกิดความผูกพันในองค์กรและตัวบุคคล



ซึ่งถ้าเขาจะลาออกจากองค์กรก็คงต้องคิดหนักนะครับว่า ไปที่ใหม่จะได้รับการสอนงานแบบนี้หรือไม่



7.ได้มีส่วนร่วมในเรื่องต่าง ๆ (getting involvement)



องค์กรของท่านเคยเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความคิดเห็น เสนอแนะเรื่องดี ๆ ต่าง ๆ บ้างหรือไม่ครับ



เช่น การเปิดโอกาสให้เขามีส่วนร่วมในการเสนอแนะรูปแบบการจัดงานปีใหม่ของบริษัท หรือส่งให้เขาเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการจัดงานเสียเลย เพื่อที่จะได้ผูกเขาไว้กับงานที่เขามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้บ้างยังไงละครับ



8.มีการสื่อสารที่ดีในองค์กร (communication)



เรื่องการสื่อสารนี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญนะครับ ซึ่งคุยกันได้อีกเป็นวัน ๆ เช่นเดียวกัน



แต่กล่าวโดยสรุปก็คือ หากมีการสื่อสารแบบสองทางโดยเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีการซักถาม



หรือมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ต่าง ๆ อย่างชัดเจนแล้ว ก็จะลดความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันลง และจะมีผลให้คนมีความผูกพันกับองค์กรในที่สุดครับ



9.มีระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานที่เป็นธรรม (measuring with fair system)



มีหลายคนที่ผมรู้จักตัดสินใจลาออก หรือขอย้ายตัวเองหลังจากพบว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมจากหัวหน้าในการประเมินผลงาน ทำให้องค์กรต้องเสียคนดีคนเก่งไปอย่างน่าเสียดาย



สำหรับปัญหานี้ผมเชื่อว่าองค์กรหลายแห่งก็คงเคยประสบมาแล้วเช่นเดียวกัน ซึ่งระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานในปัจจุบันเราก็คงจะได้ยินว่ามีการนำระบบดัชนีชี้วัดหลัก (Key Performance Indicators-KPIs) เข้ามาใช้กันในหลายองค์กรแล้ว



โดยวิธีการวัดผลการปฏิบัติงานดังกล่าว ก็จะมีส่วนช่วยลดปัญหาการประเมินผลการปฏิบัติงานที่มีอคติจากหัวหน้างานลงได้



ดังนั้น ในองค์กรที่อยากจะรักษาคนไว้ควรจะต้องให้ความสำคัญในการกำหนดมาตรฐานของงาน ตลอดจนดัชนีหรือตัวชี้วัดเป้าหมายในการทำงานของคนใน ตำแหน่งงานต่าง ๆ ให้ชัดเจน



เป็นที่เข้าใจตรงกันทั้งผู้ประเมินและผู้ถูกประเมิน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน และลดการลาออกของพนักงานที่เก่งและดีด้วยนะครับ



10.ได้รับโอกาสให้มีการพัฒนาและก้าวหน้าในองค์กร (giving opportunity for advancement and professional development)



ทุกคนที่ทำงานย่อมต้องอยากที่จะเจริญเติบโตก้าวหน้าไปในสายอาชีพการงานที่ตนทำงานอยู่ในอนาคต คงไม่มีใครอยากจะอยู่เป็น "พนักงานอมตะ" เป็นขวัญใจของ พนักงานรุ่นหลัง ๆ เป็นแน่



ดังนั้น องค์กรควรจะมีการกำหนดสายความก้าวหน้าให้กับพนักงานในตำแหน่งงานต่าง ๆ พร้อมทั้งกำหนดวิธีการพัฒนาพนักงานอย่างชัดเจน และเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างโอกาสความก้าวหน้าให้กับ พนักงานโดยไม่ทิ้งองค์กรไปด้วยเหตุผลว่า "ขาดความก้าวหน้า" ยังไงละครับ



11.มีการแจ้งขอบเขตหน้าที่และความคาดหวังในงานอย่างชัดเจน (clear job expectations)



ในยุคปัจจุบันมีเครื่องมือยอดนิยมที่หลายองค์กรนำมาใช้แล้วนั่นก็คือ "competency" นั่นเอง



หากองค์กรใดพัฒนาระบบ compe tency และนำมาใช้แล้วก็ย่อมจะสามารถแจ้งถึงคุณสมบัติ หรือ competency ในตำแหน่งงานต่าง ๆ ให้กับผู้ปฏิบัติได้ทราบ ตลอดจนมีการประเมินเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาสมรรถนะความสามารถของพนักงานแต่ละรายได้อย่างเป็นระบบชัดเจน



เมื่อมีการแจ้งขอบเขตหน้าที่ หรือ competency ของงานให้ผู้ปฏิบัติได้รับทราบชัดเจนแล้ว ก็จะทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจความคาดหวังจากองค์กรหรือหัวหน้างาน และทำงานได้ถูกทิศทางดียิ่งขึ้น



12.มีเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำงานอย่างเพียงพอเหมาะสมตามหน้าที่และความรับผิดชอบ (adequate tools to complete work responsibilities)



เรื่องนี้ฟังแล้วดูเหมือนเป็นเรื่องพื้นฐานเลยนะครับ แต่เป็นความจริงที่ผมพบเห็นอยู่ไม่น้อยเหมือนกันที่ผู้ปฏิบัติงานอึดอัดใจที่ขาดเครื่องมือเครื่องใช้อุปกรณ์การทำงาน



ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ หลายองค์กรนอกจากไม่ออกค่าใช้จ่ายให้แล้ว ยังปล่อยให้พนักงานต้องรับผิดชอบค่าโทรศัพท์ในส่วนที่ใช้ในงานบริษัทด้วยอีก แล้วอย่างนี้จะทำให้คนรู้สึกผูกพันกับองค์กรหรือให้เขาเกิดความรู้สึกดี ๆ ได้อย่างไร



จากที่ผมได้เล่ามาทั้งหมดนี้ คงจะเป็นข้อคิดสำหรับท่านในการนำไปทบทวนดูว่า ในองค์กรของท่านได้สร้างความผูกพันที่ดี เพื่อให้คนที่เก่งและดีอยากจะอยู่กับเราไปแล้วในเรื่องใดบ้าง



และในเรื่องใดที่จะต้องดำเนินการต่อ เพื่อธำรงรักษาบุคลากรที่มีค่าเหล่านี้เอาไว้ ให้เป็นกำลังสำคัญสำหรับองค์กรของท่านต่อไปในอนาคต



ที่มา : คอลัมน์ HR corner โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ tamrongsakk@gmail.com หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ หน้า 29

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 569,643