สรุป7วันอันตรายสงกรานต์ตาย364เจ็บ3,559

โดย: winai.d [IP: 61.91.85.xxx]
เมื่อ: 2015-04-23 08:57:52
สรุป7วันอันตรายสงกรานต์ตาย364เจ็บ3,559

สรุป 7 วันอันตรายช่วงสงกรานต์ ยอดตายพุ่ง 364 ศพ เจ็บ 3,559 ราย เกิดอุบัติเหตุ 3,373 ครั้ง ขณะที่จ.สุรินทร์แชมป์เสียชีวิตสูงสุด 16 ราย



16 เม.ย.58 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันนี้่ได้มีการแถลงข่าวปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2558 พร้อมสรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนน รวม 7 วัน ซึ่งว่าเกิดอุบัติเหตุรวม 3,373 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 364 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 3,559 คน



ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 7 วันอันตรายของปี 2557 ปรากฏว่าสถิติพุ่งสูงขึ้น โดยปี 2557 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,992 ครั้งเท่านั้น ผู้เสียชีวิตก็มีเพียง 322 ราย และมี ผู้บาดเจ็บ 3,225 คน



โดยพบว่าปีนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 42 ราย มีผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้น 334 คน และ มีจำนวนอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 381 ครั้ง



นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยระบุว่า รายงานสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 15 เมษายน 2558 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ เกิดอุบัติเหตุ 458 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 58 ราย ผู้บาดเจ็บ 489 คน



สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 41.23 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 27.85 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 80.56 โดยมีพฤติกรรมเสี่ยงจากการไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 25.87 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 64.04 ถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 39.25 ทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 38.38



จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก 32 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ เพชรบูรณ์ 4 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก 34 คน



นายสุธีระบุด้วยว่า สรุปอุบัติเหตุทางถนนรวม 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 9 - 15 เมษายน 2558 เกิดอุบัติเหตุรวม 3,373 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 364 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 3,559 คน” รมช.มหาดไทย กล่าวและว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 39.31 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 24.35 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.34 โดยมีพฤติกรรมเสี่ยงจากการไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 28.51 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 62.89 ถนนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 37.29 ถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 37.14



สำหรับจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก 141 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ สุรินทร์ 16 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ สุรินทร์ 152 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต แม่ฮ่องสอน ยะลา สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร จังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บในช่วง 7 วันของการรณรงค์ มี 1 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ



รมช.มหาดไทย กล่าวต่อว่า การดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2558 มีจำนวนครั้ง จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ขณะที่รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด โดยสาเหตุยังคงเกิดจากปัจจัยเสี่ยงสำคัญทั้งการดื่มแล้วขับและการขับรถเร็ว รวมถึงการไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัยถือเป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้ผู้ประสบอุบัติเหตุมีอัตราการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิต



“ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จะได้ถอดบทเรียนการลดอุบัติเหตุ โดยนำความสำเร็จของจังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตมาเป็นต้นแบบในการวางแนวทางและกำหนดทิศทางการสร้างความปลอดภัยทางถนน ที่มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ ในการบริหารจัดการควบคู่กับการลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนที่ครอบคลุมทั้งผู้ใช้รถใช้ถนน สภาพรถ และเส้นทาง รวมถึงนำปัญหาอุปสรรค จากการดำเนินงานมาปรับปรุงและพัฒนาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนทั้งในช่วงปกติและเทศกาลสำคัญ เพื่อให้การขับเคลื่อนการสร้างความปลอดภัยทางถนนมีประสิทธิภาพในการลดความสูญเสียได้มากที่สุด” รมช.มหาดไทย



ด้านหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับแล้ว ขณะที่บางส่วนยังเล่นน้ำสงกรานต์ตามประเพณีในพื้นที่ จึงขอกำชับให้จังหวัดดังกล่าวระดมกำลังเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนดูแลความปลอดภัยในการเล่นน้ำควบคู่กับการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน และอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับของประชาชน สำหรับจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นให้คณะทำงานสืบสวนอุบัติเหตุของจังหวัดตรวจสอบหาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและวางแนวทางแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ



ขณะที่นายไมตรี อินทุสุต รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การดำเนินงานลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2558 มีข้อสังเกตที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อประสิทธิภาพในการบริหารจัดการอุบัติเหตุทางถนน ทั้งมิติด้านวัฒนธรรม มิติด้านการท่องเที่ยว และมิติด้านความปลอดภัย ซึ่งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) จะได้นำแนวคิดทั้ง 3 มิติหลักประกอบการพิจารณากำหนดแนวทางและมาตรการ เชิงนโยบายในการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนทั้งในช่วงปกติและเทศกาลสำคัญ พร้อมประสานให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขับเคลื่อนกลไกการบริหารจัดการในมิติเชิงพื้นที่ที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมการเดินทางและการท่องเที่ยว อย่างปลอดภัยตามวิถีไทย

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 569,596