ชี้บ่งอันตรายและประเมินความเสี่ยง ! อย่างไร ให้ได้ผล

“ ชี้บ่งอันตรายและประเมินความเสี่ยง ! อย่างไร ให้ได้ผล”

 

ทุกวันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธครับว่า การชี้บ่งอันตรายและประเมินความเสี่ยงเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญตัวหนึ่งที่จะใช้ในการค้นหาอันตรายที่มีอยู่ในการทำงาน และสามารถที่จะตัดสินใจได้ว่าจะจัดการกับอันตรายที่มีอยู่อย่างไรดี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุกับผู้ปฏิบัติงานทุกคน ซึ่งก็มีหลากหลายเทคนิคให้เลือกใช้กันตามลักษณะของสถานประกอบการ ไม่ว่าจะเป็น เทคนิค Job Safety Analysis (JSA) Hazard and Operability Study (HAZOP) Failure Mode and Effect Analysis (FMEA ) ฯลฯ แต่หลายๆ ครั้งที่เราก็มักจะมีคำถามที่เกิดขึ้นในใจว่า ชี้บ่งอันตรายก็ทำแล้ว ประเมินความเสี่ยงก็ทำแล้ว ทำไมยังมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นอยู่ ทำให้เหล่า จป. วิชาชีพทั้งหลาย ต้องเกิดความเครียด และก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า การชี้บ่งอันตรายและประเมินความเสี่ยงที่เราทำอยู่นี่มันถูกทางไหม มีอะไรขาดตกบกพร่องไปหรือเปล่า

 

 

ขั้นตอนหลักๆ ที่เราใช้ในกระบวนการนี้ ที่เราๆ ท่านๆ รู้กันก็จะมีอยู่ 3 ขั้นตอน คือ
การชี้บ่งอันตราย (Hazard Identification), การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment), และการควบคุมความเสี่ยง (Hazard Control) แต่สำหรับบทความฉบับนี้ผมขอนำเสนอแนวทางในการชี้บ่งอันตราย ซึ่งมีแนวทางดังนี้ครับ

1. ชี้บ่งอันตราย (Identify the hazard) เป็นสิ่งแรกที่ต้องทำเพื่อหาว่าคนทำงานมีโอกาสได้รับอันตรายอะไรบ้าง เรื่องนี้ต้องระวังครับ เพราะว่ามีความเป็นไปได้สูงที่เราจะมองข้ามอันตรายเหล่านี้ไปเนื่องจากความคุ้นเคยกับสภาพที่เป็นอยู่ ดังนั้น ในหัวข้อนี้ ผมมี Tip มาช่วยให้เราสามารถชี้บ่งอันตรายดังนี้ครับ

- อย่าลืมเดินสำรวจพื้นที่ทำงาน เพื่อหาจุดอันตราย มีหลายครั้งที่เราพบว่า เราชี้บ่งอันตรายจากจินตนาการ โดยไม่ได้เห็นหน้างานจริง

- สอบถามพนักงาน ว่าเขาคิดอย่างไร อาจจะมีบางอย่างเกี่ยวกับอันตรายที่เขายังไม่ได้บอกให้เราทราบ

- ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องจักร อุปกรณ์ และข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมี (Safety Data Sheet) ข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์ครับ สำหรับการค้นหาอันตราย

- ตรวจสอบสถิติอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยจากการทำงานที่ผ่านมา

- สุดท้าย อย่าลืมนึกถึงอันตรายในลักษณะ Long term เช่น การสัมผัสเสียงดัง การสัมผัสกับสารเคมีอันตรายเป็นระยะเวลานาน

2. สรุปออกมาว่าใครอาจจะได้รับอันตรายบ้างและจะได้รับอันตรายอย่างไร (Decide who might be harmed and how) หัวข้อนี้ต้องชัดเจนครับว่าใครที่อาจจะได้รับอันตรายบ้าง ซึ่งจะเป็นผลดีในการจัดการกับความเสี่ยง เพราะถ้าเรารู้ว่าใครจะได้รับอันตรายบ้าง เราก็สามารถที่จะป้องกันอันตรายต่อคนเหล่านั้นได้ ซึ่งการทำขั้นตอนนี้ไม่ได้หมายความว่าต้อง List รายชื่อออกมาแต่ เราสามารถสรุปออกมาเป็นกลุ่มๆ ได้เลย เช่น พนักงานที่ทำงานในห้องจัดเก็บวัสดุ หรือผู้ที่เดินผ่านไปผ่านมา และนอกจากนี้จะต้องระบุลักษณะของการบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วยออกมาด้วย เช่น การยกกล่องที่ซ้อนกันจะทำให้ได้รับบาดเจ็บที่หลัง แต่ยังไงก็อย่าลืมคนกลุ่มต่อไปนี้นะครับ

- พนักงานที่ต้องดูแลเป็นกรณีพิเศษ เช่น พนักงานงานใหม่ หญิงตั้งครรภ์ และบุคคลพิการ ซึ่งอาจจะมีความเสี่ยงเฉพาะสำหรับคนกลุ่มนี้

- พนักงานทำความสะอาด ผู้เยี่ยมชม ผู้รับเหมา พนักงานซ่อมบำรุง ซึ่งอาจจะไม่ได้อยู่ในภายในโรงงานของเราตลอดเวลา

- สาธารณชน ที่อาจจะได้รับบาดเจ็บจากการดำเนินกิจกรรมของโรงงานเรา

- หากมีการใช้สถานที่ร่วมกันกับโรงงานอื่น ให้นึกถึงงานที่อาจจะส่งผลกระทบต่อบุคคลอื่นด้วย และรวมถึงผลกระทบจากโรงงานอื่นที่จะส่งผลต่อโรงงานเราด้วย

และท้ายที่สุด ให้มีการสอบถามพนักงานในโรงงานของเราว่า มีใครอีกบ้างที่เราอาจจะลืมไป
มาถึงตอนนี้ คิดว่า หลายๆ ท่าน คงจะได้แนวคิดดีๆ ในการชี้บ่งอันตรายเพื่อให้มั่นใจว่า อันตรายทุกๆ อย่าง ได้มีการชี้บ่งออกมาหมดแล้ว ซึ่งจะเป็นบันไดขั้นแรกสำคัญ ก่อนที่เราจะใช้ข้อมูลการชี้บ่งอันตรายนี้ ไปทำการประเมินความเสี่ยงต่อไป และรวมถึงการลดและควบคุมความเสี่ยงเพื่อไม่ให้ความเสี่ยงเหล่านั้น ทำให้เกิดอุบัติเหตุกับพนักงานในโรงงานของเราครับ ฉบับหน้ามาคุยกันต่อครับกับเทคนิคในการประเมินความเสี่ยงแบบไม่เข้าข้างตัวเอง แล้วเจอกันนะครับ


****************************


เอกสารอ้างอิง
กรมโรงงานอุตสาหกรรม. กระทรวงอุตสาหกรรม. คู่มือการชี้บ่งอันตรายและประเมินความเสี่ยง
Devon Country Council.2005 , Inclusive Education : Risk Assessment
http://www.hse.gov.uk/risk/step1.html : Five Steps to Risk Assessment

คัดลอกบทความจาก

คุณเทพพร เจริญรอย
ที่ปรึกษา อาชีวอนามัยและความปลอดภัย
thepporn.j@npc-se.co.th
บริษัท เอ็นพีซี เซฟตี้ แอนด์ เอนไวรอนเมนทอล เซอร์วิส จำกัด

Visitors: 570,421