บทความดีดีจากอ.ไอศวรรย์

วัสดีครับ

     ขอนำบทความของอาจารย์ไอศวรรย์ บุญทัน  มาเผยแพร่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ที่อับอากาศคืออะไร 

        ตามรายงานสถานการณ์การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการทำงานในพื้นที่อับอากาศ กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค มีการบาดเจ็บและเสียชีวิตในที่อับอากาศมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงปี พ.ศ. 2557-2561 และสูงสุดใน พ.ศ. 2560 พบผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวม 34 ราย  อย่างเช่น สถานการณ์การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการทำงานในอับอากาศ ปี พ.ศ. 2562

รายงานการบาดเจ็บและเสียชีวิตในที่อับอากาศ 3 เหตุการณ์  เกิดที่จังหวัดเพชรบูรณ์ นครศรีธรรมราช และพัทลุง

  • บาดเจ็บ 3 ราย เสียชีวิต 6 ราย เป็นเพศหญิง 2 ราย ชาย 7 ราย

  • เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี 2 ราย และผู้ใหญ่อายุระหว่าง 30-85 ปี 7 ราย

  • เกิดจากการสูดดมก๊าซพิษในโรงงานและฟาร์มสุกร 2 ราย  ในบ่อน้ำบาดาลในชนบท 1 ราย

  • ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 64 เสียชีวิตในโรงเพาะเห็ด 3 ราย  ที่อำเภอครบุรี นครราชสีมา

      จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนี้ ทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มาตรา 3 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯปี 54 บัญญัติให้ส่วนราชการต่างๆต้องจัดให้มีมาตรการความปลอดภัยไม่น้อยกว่าที่กฎหมายนั้นๆกำหนดไว้ หรือเจ้าของสถานประกอบกิจการต่างๆ รวมทั้งแรงงานนอกระบบ ที่เข้าข่ายที่อับอากาศ ก็ต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎหมาย เพื่อป้องกันการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น

 

ที่อับอากาศคืออะไร

  1. คำจำกัดความ (Definition)ตามกฎกระทรวงที่อับอากาศฯปี 2562

1.1       “ที่อับอากาศ” (Confined Space)  หมายความว่า ที่ซึ่งมีทางเข้าออกจำกัด และไม่ได้ออกแบบไว้ สำหรับเป็นสถานที่ทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ  และ มีสภาพอันตราย หรือ มีบรรยากาศอันตราย เช่น อุโมงค์ ถ้ำ บ่อ หลุม ห้องใต้ดิน ห้องนิรภัย ถังน้ำมัน ถังหมัก ถัง ไซโล ท่อ เตา ภาชนะหรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน

 1.2      สภาพอันตรายหมายความว่า สภาพหรือสภาวะที่อาจทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายจากการทำงาน อย่างหนึ่ง

อย่างใด ดังต่อไปนี้

(๑)    มีวัตถุหรือวัสดุที่อาจก่อให้เกิดการ จมลง ของลูกจ้างหรือ ถมทับ ลูกจ้างที่เข้าไปทำงาน

(๒)    มีสภาพที่อาจทำให้ลูกจ้างตก ถูกกัก หรือติดอยู่ภายใน)

(๓)    มีสภาวะที่ลูกจ้างมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากบรรยากาศอันตราย

(๔)    สภาพอื่นใดที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือชีวิตตามที่อธิบดีประกาศกำหนด

                          ตัวอย่าง สภาพอันตรายตามกฎกระทรวงที่อับฯ ปี 62 และมาตรการป้องกันเช่นงานขุด

 

 

1.3      "บรรยากาศอันตราย"  หมายถึง สภาพอากาศที่อาจทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายจากสภาวะอย่างหนึ่งอย่างใด คือ

  1. มีออกซิเจนต่ำกว่าร้อยละ 19.5 หรือมากกว่า ร้อยละ 23.5 โดยปริมาตร

  2. มีก๊าซ ไอ ละอองที่ติดไฟหรือระเบิดได้ เกินร้อยละ 10ของ LEL ของค่าความเข้มข้นขั้นต่ำของสารเคมีแต่ละชนิดในอากาศที่อาจติดไฟหรือระเบิดได้ (Lower flammable limit หรือ Lower Explosive Limit)

  3. มีฝุ่นที่ติดไฟหรือระเบิดได้ ซึ่งมีค่าความเข้มข้นเท่ากับหรือมากกว่าค่าความเข้มข้นขั้นต่ำสุดของ ฝุ่นที่ติดไฟหรือระเบิดได้แต่ละชนิด (minimum explosible concentration)

  4. ค่าความเข้มข้นของสารเคมีแต่ละชนิดเกินมาตรฐานที่กำหนดตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย

  5. สภาวะอื่นใดที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือชีวิตตามที่อธิบดีประกาศกำหนด

 

1.4  ก๊าซ ออกซิเจน(O2) คือสิ่งที่เกิดมาจากกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช  ในบรรยากาศของโลกเรา มี ออกซิเจนเพียง  20.98%  แต่ก็เป็นปริมาณที่เพียงพอและเหมาะสมกับการดำรงชีวิตเพื่อการทำงาน  และการมีชีวิตอยู่รอด   นอกนั้นเป็นแก๊สอื่นๆ  ที่เป็นสัดส่วนที่ผสมได้แก่ ไนโตรเจน 78%และ แก๊สอื่น ๆ เช่น อาร์กอน,ละอองน้ำ  อีก1 % รวมเป็น 100%ของบรรยากาศของโลกเรา ถ้าสัดส่วนการผสมของอากาศเปลี่ยนไปจากที่เป็นยู่  นั่นจะหมายถึง  การทำงานในสภาวะที่เป็นบรรยากาศอันตราย

 

อันตรายในบรรยากาศที่ขาดออกซิเจนในระดับต่าง ๆที่มี่ผลต่อร่างกาย

  • อันตรายในบรรยากาศที่ขาดออกซิเจน ในระดับต่าง ๆที่มี่ผลต่อร่างกาย

  • 23.5%  ปริมาณออกซิเจนที่มากเกินไปทำให้เกิดการเผาไหม้ที่รุนแรง

  • 21 %     ปริมาณออกซิเจนที่ผสมในอากาศ  ในสัดส่วนที่เป็นปกติ

  • 19.5%  ปริมาณต่ำสุดที่ปลอดภัย  ตามข้อกำหนดของ OSHA

  • 12-16% เริ่มหายใจลำบาก อึดอัด เวียนศีรษะเกิดการเมื่อยล้าอย่างกะทันหัน

  • 10-11% สมองเริ่มทำงานผิดปกติ จะสูญเสียการเคลื่อนไหว มีอาเจียน คลื่นไส้

  • 6-10%   เป็นลมหมดสติ หายใจไม่ออก

  • 5%        มีโอกาสเสียชีวิตทันที

 

 

รูปที่ ๑ ภาพตัวอย่างที่อับอากาศ

(ออนไลน์. https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_196364 และ http://hilight.kapook.com/view/100427

 

ปัจจัยการพิจารณาว่าพื้นที่ใดจัดเป็นที่อับอากาศ

๑. เป็นพื้นที่ซึ่งมีปริมาตรขนาดเล็ก แต่ใหญ่พอที่คนจะเข้าไปปฏิบัติงานได้ปัจจัยการพิจารณาว่าพื้นที่ใดจัดเป็นที่อับอากาศ

๒. เป็นพื้นที่ที่อยู่ในสภาพจำกัดไม่ให้มีการเข้าออกได้โดยสะดวก พื้นที่ภายในมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเนื่องจากสภาพทางกายภาพ งานขุดอาจจะยุบลงไหหรือถูกดินถล่มทับ และหรือมีสภาพอากาศที่เป็นอันตรายอันตรายด้วยอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง เช่น มีก๊าซ หรือไอ ฯลฯ ที่ไม่สามารถระบายออกและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของลูกจ้างในบริเวณนั้น อาจสูดดมแก๊สพิษเข้าสู่ร่างกายหรือมีออกซิเจนไม่เพียงพอ

๓. สภาพการเข้าออกไม่สะดวกทำให้การกู้ภัยหรือกู้ชีวิตเป็นไปด้วยความยากลำบาก

๔. ช่องเปิด ทางเข้า ทางออก มีขนาดเล็กหรือมีจำนวนจำกัด มีการระบายอากาศตามธรรมชาติไม่เพียงพอ

๕. เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ออกแบบให้ปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง

 

  ปฏิบัติอย่างไรเพื่อความปลอดภัยในการปฏิบัติงานในที่อับอากาศ

๑. มีระบบการทำงานที่มีความปลอดภัย ดังนี้

ก. ต้องมีการชี้บ่งที่อับอากาศและติดป้าย(Safety Sign) แจ้งข้อความว่า “ ที่อับอากาศ อันตราย ห้ามเข้า ” ติดที่ทางเข้า-ออก

ข. ต้องมีใบขออนุญาตที่อับอากาศและผู้อนุญาต, ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือและผู้ปฎิบัติงาน ต้องผ่านการอบรมและทุกคน

    ต้องมีใบรับรองแพทย์สำหรับการทำงานที่อับอากาศและระบุว่าสามารถทำงานในที่อับอากาศได้(Fit to Work)เท่านั้น

ค. ต้องจัดให้มี การตัดแยกแหล่งพลังงานระบบต่างๆ ที่อาจเกิดอันตรายในที่อับอากาศ เช่น พลังงานไฟฟ้า ปิดวาล์ว ท่อ

ง. ต้องจัดให้มี การกั้นบริเวณที่ทำงานที่อับอากาศ(Barricade) หรือให้มีสิ่งปิด -ฝาปิดกั้น มิให้บุคคลใด เข้าไป หรือตกลงไป

จ. จัดให้มี บริเวณทางขึ้น-ลง หรือทางเข้า-ออกที่อับอากาศนั้นๆ ให้มีความสะดวกและปลอดภัย

ฉ. จัดให้มีระบบระบายอากาศที่เหมาะสมก่อนเข้าทำงาน และตลอดระยะเวลาที่ทำงาน 

ช. จัดให้มีการตรวจวัดสภาพบรรยากาศ ก่อนเข้า เป็นระยะและตรวจวัดทุกครั้งที่เข้าใหม่

ซ. เลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะกับลักษณะงาน เช่น Hood Air supply/Air Line และแสงสว่างเพียงพอ

ฌ. ถ้าที่อับอากาศเป็นงานที่มีไอละเหยสารไวไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้าที่นำมาใช้งาน ต้องเป็นชนิดกันระเบิด -Explosion Proof

ญ. ต้องจัดให้มีอุปกรณ์ดับเพลิงที่เหมาะสมและเพียงพอที่จะใช้ทันที เช่น 6A20B,10A40B

 

 ๒. มีการเตรียมการสำหรับเหตุฉุกเฉินให้พร้อมก่อนเริ่มการเข้าปฏิบัติงานในที่อับอากาศ

ก. ตรวจสอบและเตรียมความพร้อมในการแจ้งกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

ข. จัดเตรียมเครื่องมือกู้ภัยและช่วยชีวิตที่พร้อมใช้งานได้อย่างทันสถานการณ์

ค. ทีมฉุกเฉินและทีมกู้ภัยมีสมรรถนะตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานในที่อับอากาศได้ทันสถานการณ์

 

 

   แผนเหตุฉุกเฉิน

  1. ทีม First Aid & Rescue ประเมินอาการผู้ประสบเหตุ/ The First Aid & Rescue team assesses the victim's symptoms.

  2. รถฉุกเฉิน(Emergency Car) เตรียมพร้อมยังพื้นที่เกิดเหตุเพื่อนำพาผู้ประสบเหตุส่งต่อห้องปฐมพยาบาลเบื้องต้น(First Aid Room)/ Emergency Car prepared to the Accident site to bring the victim to the First Aid Room.

  3. ทีม Rescue นำพาผู้ประสบเหตุนอนในเปลสนามเพื่อนำออกไปยังจุดช่องทางออกที่กำหนดของถัง/ The rescue team led the victim to a stretcher to take it out to the tank's designated exit point.

  4. ทีม Rescue เข้าช่วยเหลือผู้ประสบเหตุยังจุดเกิดเหตุจากการสื่อสารรับเรื่องแจ้งเหตุฉุกเฉิน/ Rescue teams help the victims at the site of the accident from being notified.

       กฎหมายด้านความปลอดภัย ต่างๆนั้น เช่นกฎกระทรวงที่อับอากาศ,ก่อสร้างและกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และถือเป็นมาตรฐานขั้นต่ำ Basic Standard ที่ทุกๆฝ่าย ต้องเรียนรู้และนำมาตรการ

ตามกฎหมายนั้นๆ เอามาบังคับใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติให้ได้

 

“Safety is everyone’s Responsibility

ความปลอดภัยเป็นหน้าที่ของทุกๆคน

    บทความ

    โดย  

    

นายไอศวรรย์ บุญทัน

 

เอกสารอ้างอิง

  • ปีที่ 6 ฉบับที่ 8 สิงหาคม 2562 DDC WATCH สถานการณ์การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการทำงานในพื้นที่อับอากาศ

กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค

ความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ

สำหรับแรงงานนอกระบบ

แนวทางจัดการความปลอดภัยในที่อับอากาศ สำหรับแรงงานนอกระบบ

        แนวทางปฏิบัติความปลอดภัยในที่อับอากาศสำหรับแรงงานนอกระบบนี้ โดยได้เขียนถึงวิธีดำเนินงานให้สอดคล้องตามกฎหมาย คือ ในพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๕๔  มาตรา ๓ วรรค ๒ กำหนดไว้ 2 ส่วน คือให้ส่วนราชการต่างๆ คือ ต้องจัดให้มี มาตรการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ในหน่วยงานของตน ไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ และแนวปฏิบัติในกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับที่อับอากาศ พ.ศ. ๒๕๖๒

      “ที่อับอากาศ” หมายความว่า ที่ซึ่งมีทางเข้าออกจำกัดและไม่ได้ออกแบบไว้สำหรับเป็นสถานที่ทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ และ 1.มีสภาพอันตราย หรือ 2.มีบรรยากาศอันตราย อย่างใดอย่างหนึ่งหรือมีทั้งสองอย่างเช่น อุโมงค์ ถ้ำ บ่อ หลุม ห้องใต้ดิน ห้องนิรภัย ถังน้ำมัน ถังหมัก ถัง ไซโล ท่อ เตา ภาชนะหรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน

Temporary Confined Space-โรงเพาะเห็ด

 

      “แรงงานนอกระบบ” (Informal Sector)หมายถึง “ผู้ที่ทำงานส่วนตัวโดยจะมีลูกจ้างหรือไม่ก็ได้ หรือลูกจ้างที่ไม่มีประกันสังคมหรือสวัสดิการพนักงานของรัฐ” แรงงานนอกระบบของไทยมากกว่าครึ่งหนึ่งทำงานในภาคเกษตร

 จากสถิติอุบัติเหตุในที่อับอากาศ ที่เคยเกิดขึ้น เช่น

-11 ก.ค. 64 ตร. สภ.ครบุรี จ.นครราชสีมา รับแจ้งมีคนเสียชีวิตอยู่ในโรงเพาะเห็ด 3 ศพ

-10 ก.ย 63 พ่อลูกเสียชีวิตในบ่อบาดาล ลูกชายคนเล็กและคนโตลงไปช่วย เสียชีวิตทั้ง 3

-11 พ.ค.60 สลด 3 ศพ ดับคาถังประปาหมู่บ้าน เพื่อนอีกคนลงไปช่วยเกือบหมดสติหนีทัน

-26 ม.ค.60 สยองกรุง คนงานลงล้างบ่อบำบัด ใจกลางตลาดสด เอซี. สายไหม ขาดอากาศตายสลด 4 ศพ

-26 มี.ค.60 สลด 4 ศพ ช่างระบบท่อน้ำเสีย เทศบาลเมืองภูเก็ต เจอแก๊สไข่เน่าหมดสติไปก่อน 1 คน เพื่อนลงไปช่วยดับอีก 3 ศพ

-27 พฤษภาคม 55 ลูกจ้างในบ่อหมักไบโอก๊าซ เสียชีวิต 5 ราย ที่ราชบุรีเป็นบ่อเปิดกว้างๆ

        จากอุบัติเหตุในแต่ละครั้งนี้ บ่งชี้ให้เห็นชัดเจนว่าไม่มีความรู้ในเรื่องที่อับอากาศ ไม่มีอุปกรณ์ในการทำงาน ไม่มีหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยที่กฎหมายกำหนดไว้

การปฏิบัติงาน “ที่อับอากาศ” มีการปฏิบัติโดยทั่วไป โดยขอแบ่งเป็น 2 แบบ คือ การประกอบในภาคอุตสาหกรรม เช่น สถานประกอบกิจการ และโรงงานต่างๆ และ การประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรม เช่น การทำไร่, นา,ฟาร์ม ซึ่งมีกิจกรรมในงานที่อับอากาศเกี่ยวข้องอยู่ทั้งสิ้น ในส่วนความปลอดภัยที่อับอากาศ สำหรับแรงงานนอกระบบหรือภาคเกษตรกรนั้น  ส่วนใหญ่ขาดความรู้ในเรื่องที่อับอากาศ ขาดอุปกรณ์ที่จำเป็นที่ใช้ในที่อับอากาศ เมื่อปฏิบัติงาน เกิดความไม่พร้อมในหลายด้านที่กล่าวมา ก็จะทำให้เกิดอุบัติเหตุ และเสียชีวิต เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในแต่ละปี

หลักการทำงานที่อับอากาศ สำหรับแรงงานนอกระบบ และหรือ ภาคเกษตรกรรม คือ ต้องสังเกต และตรวจสอบพื้นที่ทำงานซึ่งมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายต่อชีวิต 2 หัวข้อ ดังนี้

1. อันตรายจากก๊าซพิษ เช่น ก๊าซไข่เน่า (H2S) ซึ่งเกิดได้จากการทับถมกับของซากพืช ซากสัตว์ หรือเกิดจากน้ำเสีย ซึ่งมักพบในบริเวณ บ่อเก่า, หลุมเก่า, ท่อเก่า, ร่องน้ำ และพื้นที่อื่นๆ ตามที่ลักษณะงาน

 2.อันตรายจากการขาดอากาศหายใจ (อ๊อกซิเจน) เช่น การทำงาน ในสถานที่ที่มีความลึก เช่น บ่อ, หลุม, ท่อ และพื้นที่อื่นๆ เช่น ยกตัวอย่างโรงเพาะเห็ด ที่เสียชีวิตล่าสุด 3 ศพ  การเพาะเห็ดฟาง คือที่อยู่ในขั้นตอนการการอบเชื้อเห็ดโดยต้องปิดโรงเพาะเห็ดไว้ให้มิดชิดโดยใช้ผ้าใบคลุมมิดชิด จากนั้นจะใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อัดเข้าไปในโรงเพาะเห็ด ประมาณ 3 วัน เพื่อทำให้โรงเห็ดไม่มีออกซิเจนเหลืออยู่ เมื่อมีคนเข้าไปก็ทำให้ขาดออกซิเจนสำหรับหายใจเป็นต้น ส่วนอันตรายอื่นๆที่มีก็ตามที่ลักษณะงานนั้นๆ ซึ่งต้องให้ความรู้ในการทำงานต่างๆเหล่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก

       จึงแนะนำขั้นตอนการทำงานในที่อับอากาศ

 

     1.   จัดให้มีผู้ช่วย 1 หรือ 2 คนเฝ้าที่ ทางขึ้น-ลงตลอดเวลา

     2.  จัดให้มีบันไดสำหรับปีนขึ้น-ลง และเชือกผูกที่เอวผู้ปฎิบัติงาน-หรือเชือกคล้องไปใต้รักแร้ทั้งสองข้างและมัดตรงกลางหลัง-ไหล่ ของผู้จะลงไปทำงานในบ่อ หลุม ท่อให้สื่อสารกันโดยการกระตุกเชือกถามหรือโต้ตอบกัน ถ้ามีเหตุฉุกเฉินที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ให้ผู้ช่วยดึงขึ้นมา ห้ามลงไปช่วยเด็ดขาด

     3.ให้ตรวจสอบสภาพหรือประเมินบ่อ,หลุม,ท่อเบื้องต้นโดยให้ใช้ไม้ยาวๆกวนด้านล่างสุดของที่อับอากาศนั้นๆ แล้วให้สังเกต

ดูสีของน้ำ ถ้าสีของน้ำดำๆ เข้มๆ ข้นๆ มีแสงสะท้อนขึ้นมาและมีกลิ่นเหม็นรุนแรง เหมือนไข่เน่า ห้ามลงโดยเด็ดขาด

ให้แก้ไขเบื้องต้นก่อน เช่น ใช้น้ำสะอาดเติมเทลงไปให้มากที่สุดลงไปเพื่อเจือจาง

     4.การตรวจสอบ กรณีบ่อแห้งๆ ไม่มีน้ำขังก้นบ่อ การตรวจหาปริมาณของก๊าซออกซิเจนที่ก้นบ่อ ให้จุดเทียนแล้วค่อยๆหย่อนเชือกลงไปที่ก้นหลุม หากเทียนดับแสดงว่ามีออกซิเจนไม่พอ ไม่ควรลงไป การตรวจกรณีนี้ ถ้ามีน้ำน้อยๆมีสีดำๆข้นๆ มีกลิ่นเหมือนไข่เน่า ไม่ควรใช้เทียนจุดหย่อนเด็ดขาด เพราะอาจติดไฟและระเบิดได้ เพราะ H2Sเป็นทั้งก๊าซพิษและก๊าซติดไฟ จะติดไฟระหว่าง LEL4.3v/v – UEL45.5 v/v  H2S จะหนักกว่าอากาศ คือมีความหนาแน่นที่ 1.4 kg/m3 จะอยู่ด้านล่างของบ่อ ของท่อ ของหลุม ส่วนออกซิเจน จะมีความหนาแน่น ที่ 1.2 kg/m3.

ตัวอย่าง ที่อับอากาศ สำหรับแรงงานนอกระบบ อาชีพอิสระ ภาคเกษตรกรรม  เช่น บ่อน้ำบาดาล แท็งก์น้ำประปาของหมู่บ้าน โรงเพาะเห็ด ท่อหรือรางระบายน้ำ บ่อแก๊สชีวภาพ เป็นต้น

 

 

 

ซึ่งทุกๆฝ่าย ทั้งส่วนราชการต่างๆที่เกี่ยวข้อง มหาวิทยาลัย สถานประกอบการต่างๆ ต้องมุ่งมั่นขับเคลื่อนในเชิงป้องกัน เรื่องของความปลอดภัยของรงงานนอกระบบ ไปพร้อมๆกับการพัฒนาประเทศไทยของเรา

บทความโดย  

 นายไอศวรรย์ บุญทัน

 

Visitors: 569,295