การพัฒนาความปลอดภัยต้องควบคุมพฤติกรรม

การพัฒนาความปลอดภัยด้วยการควบคุมพฤติกรรม ยังใช้ได้ผลเสมอ

    ความปลอดภัยเชิงพฤติกรรม (Behavior based safety: BBS) เป็นการนำแนวคิดทางจิตวิทยามาพัฒนาพฤติกรรมความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน  เริ่มด้วยการบ่งชี้พฤติกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับการบาดเจ็บ นำมารวบรวมเป็นแบบสำรวจ (checklist) แล้วให้พนักงานที่ผ่านการอบรมได้ใช้เป็นเครื่องมือในการเฝ้าสังเกตและเก็บข้อมูลที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทั้งพฤติกรรมที่ปลอดภัยและไม่ปลอดภัยภายในสถานที่ทำงาน ข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้นี้จะส่งให้ทีมงานวิเคราะห์และจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาความปลอดภัยต่อไป

    การพัฒนาความปลอดภัยเชิงพฤติกรรมต่างจากโครงการของ DuPont ที่มีชื่อว่า STOP (Safety Training Observation Process) เพราะ STOP เป็นกระบวนการที่ขับเคลื่อนโดยผู้บริหารโดยใช้การตรวจประเมินความปลอดภัยในความรับผิดชอบของผู้บริหารจากระดับสูงไล่เบี้ยลงสู่ระดับต่ำต่อกันเป็นทอดๆ เป็นการใช้อำนาจทางการบริหารมาควบคุมให้ผู้ใต้บังคับบัญชาต้องระมัดระวังกันจนตัวลีบเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายหรือการได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน ส่วนการพัฒนาความปลอดภัยเชิงพฤติกรรมเป็นกระบวนการที่ขับเคลื่อนโดยพนักงานโดยใช้การสังเกตพฤติกรรมการทำงานของเพื่อนพนักงานแล้วนำมาทำแผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาความปลอดภัย กระบวนการความปลอดภัยเชิงพฤติกรรมจึงให้ข้อมูลป้อนกลับที่เป็นข้อเท็จจริงและมีความสม่ำเสมอมากกว่าที่ได้จากกระบวนการ STOP ของ DuPont

    แม้ว่าองค์กรโดยทั่วไปก็จัดให้พนักงานได้รับการฝึกอบรม มีระเบียบวิธีปฏิบัติที่รัดกุม และมีอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยตามหลักวิชา แต่สิ่งเหล่านี้จะไร้ความหมายโดยสิ้นเชิงหากพนักงานไม่นำสิ่งที่เรียนรู้จากการฝึกอบรมไปใช้ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบวิธีปฏิบัติ เช่น ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนเรื่องการเข้าทำงานในสถานที่อับอากาศ ไม่สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลในเวลาที่จำเป็นต้องสวม  ไม่ดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอเพื่อป้องกันความร้อนในกรณีที่ต้องทำงานในบริเวณที่มีความร้อนสูง การจะทำให้พนักงานมีพฤติกรรมความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเรื่องท้าทาย แต่ถึงอย่างไรก็ตามก็ยังจะสามารถทำให้เกิดขึ้นได้โดยการใช้กระบวนการความปลอดภัยเชิงพฤติกรรม

    การพัฒนาความปลอดภัยเชิงพฤติกรรมให้ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องนับตั้งแต่ผู้บริหารสูงสุดไปจนถึงคนงาน ผู้รับเหมา และผู้รับจ้างช่วงได้มีส่วนร่วมในโครงการทั้งนี้เพื่อสร้างนิสัยการทำงานที่ปลอดภัยจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร และด้วยเหตุที่การเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคคลอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบาย ระเบียบวิธีปฏิบัติตลอดจนระบบการทำงานในบางส่วน นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่จะต้องให้ผู้มีอำนาจอนุมัติหรือปรับเปลี่ยนนโยบายดังกล่าวเข้ามีส่วนร่วมในโครงการนี้ด้วย

    การพัฒนาความปลอดภัยเชิงพฤติกรรมไม่ได้ใช้ข้อสันนิษฐานหรือความรู้สึกส่วนตัว แต่ใช้ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์มาหาสาเหตุของพฤติกรรม แล้วหามาตรการแทรกแซงเพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ จากผลการวิจัยพบว่า กระบวนการความปลอดภัยเชิงพฤติกรรมสามารถช่วยเพิ่มความปลอดภัยในสถานที่ทำงานได้โดยเฉลี่ยถึงประมาณ 30%  นอกจากนั้นยังสามารถใช้ได้กับอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ทั้งอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมน้ำมัน โรงพยาบาล การขนส่ง การก่อสร้าง หรือแม้แต่ในสำนักงาน

การพัฒนาความปลอดภัยเชิงพฤติกรรมในสถานประกอบการ
    การจะนำกระบวนการความปลอดภัยเชิงพฤติกรรมมาใช้ได้นั้น องค์กรต้องมีความพร้อมรในสามประการนี้ ได้แก่
    1. พนักงานต้องมีความเชื่อว่าผู้บริหารเอาจริงในเรื่องความปลอดภัย
    2. ผู้บริหารต้องแสดงออกถึงความเอาจริงดังกล่าวด้วยการทำให้เห็นว่าได้จัดเตรียมหรือพร้อมที่จะให้อุปกรณ์เครื่องมือที่ช่วยในการทำงาน
    3. พนักงานมีความเต็มใจที่จะให้ความร่วมมือกับผู้บริหารเพื่อลดความเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน

    เพื่อให้เกิดความพร้อมดังกล่าว องค์กรอาจให้ผู้จัดการหรือหัวหน้างานแสดงภาวะความเป็นผู้นำด้วยการพัฒนาความสัมพันธ์ในการทำงานกับพนักงาน เช่นมีการสนทนาหรือพูดคุยกันแบบเปิดอกกันให้มากขึ้น วิธีการนี้ช่วยเพิ่มการยอมรับกระบวนการความปลอดภัยเชิงพฤติกรรมได้มากที่สุด นอกจากนั้นผู้บริหารระดับสูงต้องแสดงความเอาจริงเอาจังที่จะจัดการกับความเสี่ยงและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เป็นอันตราย

    การให้พนักงานมีส่วนร่วมในการวางแผนและการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมความปลอดภัยร่วมกับทีมงานของตนแล้วนำข้อมูลที่ได้มาสร้างแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาความเสี่ยงและพัฒนาการปฏิบัติงานให้มีความปลอดภัย จะช่วยให้พนักงานมีความรู้สึกเป็นเจ้าของและให้การสนับสนุนการดำเนินงาน

    ในการดำเนินการ ต้องแต่งตั้งทีมงาน (Design Team) เพื่อทำหน้าที่
    1) สร้างแบบสำรวจพฤติกรรมที่มีผลอย่างสำคัญต่อความปลอดภัย
    2) ออกแบบกระบวนการที่พนักงานสามารถทำการสังเกตพฤติกรรมความปลอดภัยของเพื่อนร่วมงาน
    3) พัฒนากระบวนการนำข้อมูลที่ได้จากการสังเกตมาสร้างเป็นแผนปฏิบัติการ

    หลังจากที่ผู้บริหารอนุมัติแผนงานนี้แล้ว ทีมงานต้องจัดการฝึกอบรมพนักงานให้สามารถเฝ้าสังเกตพฤติกรรมและมีส่วนร่วมในกระบวนการ นอกจากนั้นยังต้องเตรียมการในเรื่องของรางวัล หรือการยกย่องชมเชยทั้งเป็นรายบุคคลหรือหน่วยงานเพื่อเฉลิมฉลองและจูงใจการมีส่วนร่วมของพนักงาน

    เนื้อหาการฝึกอบรมควรครอบคลุมเรื่องต่อไปนี้
  • นิยามความหมายของพฤติกรรมที่เป็นเป้าหมาย
  • วิธีการจัดทำแบบสำรวจพฤติกรรมเพื่อให้สามารถบันทึกพฤติกรรมที่เป็นเป้าหมายเมื่อเกิดขึ้น
  • มาตรการแทรกแซงที่จะนำมาใช้พัฒนาพฤติกรรมให้เป็นพฤติกรรมความปลอดภัย
  • การจัดทำแผนภูมิรายงานความก้าวหน้า
  • การให้ข้อมูลป้อนกลับที่มีประสิทธิผล

ความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการความปลอดภัยเชิงพฤติกรรมกับระบบความปลอดภัยที่มีอยู่
    กระบวนการความปลอดภัยไม่ได้นำมาใช้แทนกระบวนการความปลอดภัยปัจจุบันที่องค์กรมีอยู่ แต่จะใช้เสริมมาตรการที่มีอยู่เพื่อให้เกิดการปฏิบัติงานที่ปลอดภัยและเพื่อช่วยรวบรวมข้อมูลซึ่งช่วยให้องค์กรสามารถจัดลำดับความสำคัญของสภาพแวดล้อมและปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัยได้ชัดเจนขึ้น แม้ว่ากระบวนการนี้จะใช้ชื่อว่า “ความปลอดภัยเชิงพฤติกรรม” แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นมาตรการที่เกี่ยวข้องแต่เฉพาะเรื่องพฤติกรรมเพราะมาตรการนี้จะช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการพิจารณาจัดหาหรือบำรุงรักษาเครื่องจักร อุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลายไปพร้อมๆ กับการสนับสนุนให้เกิดพฤติกรรมความปลอดภัย บ่อยครั้งที่เครื่องจักร อุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลายเป็นสาเหตุของความเสี่ยงเสียเอง การสังเกตของทีมงานในกรบวนการความปลอดภัยจะให้ข้อมูลที่งานวิศวกรรมหรือซ่อมบำรุงสามารถนำไปใช้แก้ไขอันตรายหรือความเสี่ยงที่มีอยู่ได้

    พนักงานที่ยังไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของกระบวนการความปลอดภัยเชิงพฤติกรรมอาจมองกระบวนการนี้ว่าเป็นกระบวนการที่ผู้บริหารใช้สอดแนมการทำงานของพนักงาน ความเข้าใจผิดเหล่านี้แก้ไขได้ด้วยการให้ความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจ ผู้บริหารจะต้องพยายามให้กระบวนการนี้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรที่พนักงานทำงานกันอย่างปลอดภัย ในขณะเดียวกันก็จะต้องจัดการแก้ไขเครื่องจักร อุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลายที่อาจทำให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัยไปในเวลากัน ภาวะผู้นำของผู้บริหารและหัวหน้างานทั้งหลายก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยสร้างความไว้วางใจและแก้ความรู้สึกที่ไม่ดีดังกล่าวได้ ผู้บริหารและหัวหน้างานนอกจากจะต้องให้การสนับสนุนการดำเนินการตามแผนงานที่ทีมงาน (design team) ได้เสนอไว้แล้ว ก็ยังควรเข้าร่วมในการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมการทำงานเช่นเดียวกับพนัก งานอื่นๆ ด้วย

     บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ
  • 6 Problem Behaviors [Waldroop and Butler]
  • Behavioral Assessment
  • Behavioral Change Model
  • Behavioral Theory of the Firm
  • Situation-Behavior-Impact Feedback Tool
  • Theory of Planned Behavior
  • การพัฒนาพฤติกรรมความปลอดภัย ควรเปลี่ยนเจตคติก่อน หรือเปลี่ยนพฤติกรรมก่อน

———————————————————-

หมายเหตุ: ผู้เขียนเปิด website สำรองข้อมูล ไว้ที่ drpiyanan.blogspot.com ผู้สนใจสามารถเปิดเข้าอ่านได้เช่นเดียวกับ web นี้ แต่จะมีความยั่งยืนกว่า

 

Visitors: 568,629