ประสบการณ์ในการทำ BBS

สวัสดีครับ

            พอดีนั่งอ่านเวปไซด์ไปเรื่อยๆ  เลยไปเปิด เพรสบู๊กอ่านไปเจอ เขาเล่าประสบการณืการทำงาน โดยนำ ฺฺBBS ไปประยุกต์ใช้กับการทำงาน เพื่อนช่วยเพื่อน มีการเขียนใบเตือน โดยให้ผู้กระทำผิดเขียนถึงพฤติกรรมเสี่ยง  เห็นว่าได้ประโยชน์มาก เลยนำมาแชร์ต่อครับ

 

ต้องขออนุญาตมาแชร์  และขอตบมือที่มาเล่าประสบการณ์จริงในการทำ BBS

BBS (Behavior Based Safety) การ์ด..การพยากรณ์ความปลอดภัย และยุทธวิธีสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในองค์กร EP#2
กฤษณ เคลือบสุวรรณ


      เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (23 พฤศจิกายน 2562) ได้มีโอกาสเข้าร่วมการอบรม หัวข้อ “BBS One day you can do” ของโครงการเพื่อนพี่เลี้ยงครั้งที่ 27 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งขณะได้ฟังบรรยายจากท่าน อ.วีระ ซื่อสุวรรณ ก็นั่งคิดไปด้วยถึงสิ่งที่เคยทำระบบ BBS รวมถึงยุทวิธีต่างๆที่เคยทำในองค์กรต่างๆแล้วประสบความสำเร็จ ก็ยิ่งค่อนข้างมั่นใจว่า BBS ในฉบับของผมมีความคล้ายคลึงกับในแบบฉบับของท่าน อ.วีระมาก ต้องขอขอบคุณท่านอาจารย์ที่มาให้ความรู้และเทคนิคเพิ่มเติม
และต้องขอขอบคุณท่านอาจารย์ สราวุธ สุธรรมาสา คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์อีกท่านหนึ่งที่ได้จัดงานนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นประโยชน์ต่อพี่ๆน้องๆในแวดวงอาชีวอนามัยและความปลอดภัย


      บทที่แล้วผมเล่าถึงประสบการณ์การทำ BBS ในรูปแบบต่างๆเมื่อครั้งทำงาน Construction ในต่างประเทศ แต่ในบทนี้จะเล่าให้ฟังในแบบฉบับโรงงานในไทยบ้าง คิดว่าพอจะเป็นประโยชน์ต่อท่านที่อ่านบ้าง เอาวิธีการทำก่อนก็แล้วกัน วันหน้าค่อยมาเล่าถึงทฤษฎีต่างๆที่เกี่ยวข้อง


    เมื่อปี พ.ศ. 2558 ช่วงที่ผมกำลังเพลิดเพลินกับงานในโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ที่ประเทศบังคลาเทศอยู่ ซึ่งขณะนั้นทางบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของโลกซึ่งเป็นเจ้าของงานบริษัทผมกำลังเริ่มซื้อที่ดินรอบๆเพิ่มเตรียมขยายโรงแยกก๊าซเป็นโปรเจคที่สอง เกิดเหตุการณ์ราคาน้ำมันโลกลดง เป็นผลให้โปรเจคที่กำลังจะเกิดใหม่ถูกระงับ ประกอบกับสัญญาจ้างฉบับแรกของผมกำลังหมดอายุ...ผลคือ..โดนปลด...ฮ่าๆๆๆ


    ชีวิตผมโดยปกติก็โลดแล่นอยู่ในวงการสัญญาจ้างชั่วคราวอยู่แล้วครับ เลยไม่ค่อยตื่นเต้นอะไรสักเท่าไหร่ พอบินกลับเมืองไทยมาพักผ่อนได้ระยะหนึ่ง ก็ถึงเวลาหางานใหม่ (เงินหมด..ฮ่าๆๆ) หลังจากเริ่มหางานใหม่อยู่ระยะนึง ก็ปรากฏว่า มีบริษัทเอเจนซี่เจ้าหนึ่งติดต่อมาให้มาลองสัมภาษณ์และทดสอบภาษาอังกฤษที่บริษัทเอเจนซี่ก่อน หลังจากสัมภาษณ์จนเป็นที่พอใจแล้ว ทางเอเจนซี่ก็ได้แนะนำพร้อมนัดหมายให้ไปสัมภาษณ์ที่บริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งในประเทศในตำแหน่ง ผู้จัดการส่วนงานความปลอดภัย ไปสัมภาษณ์รอบแรกผ่าน อีกสองสัปดาห์ไปสัมภาษณ์อีก ปรากฏว่าผ่าน.ว้าวววว..กระโดดลอยตัว ได้งานประจำทำสักที ไม่ต้องไปร่อนเร่เป็น Safety contract อีกแล้ว..


     วันแรกของการทำงาน ผมเข้ารายงานตัวกับทางผู้บริหาร ท่านแรกเป็นรองประธานอาวุโส เจ้านายทางฝ่ายผม ท่านเป็นชาวญี่ปุ่นที่มีวิสัยทัศน์มากพอพูดคุยคร่าวๆเรื่องการบริหารจัดการความปลอดภัย รวมถึงโปรเจคต่างๆที่ผมจะต้องทำเรียบร้อยแล้ว พี่เลี้ยงก็พาผมไปแนะนำตัวกับพี่ที่เป็นรองประธานบริหารฝ่ายผลิตชาวไทย มีเสียงร่ำลือว่าพี่แกเป็นคนดุมาก พอไปถึง ผมก็แนะนำตัวตามปกติ พี่แกยกมือรับไหว้แบบนักมวย แล้วเรียกพี่เลี้ยงผม “นี่ผู้จัดการความปลอดภัยคนใหม่เหรอ..บอกเค้าให้หมดนะว่าเค้าจะต้องทำอะไรบ้าง..เผื่อว่าเค้าจะได้ผ่านโปร...” ผมคิดในใจ..”มาทำงานวันแรก..โดนรับน้องซะแล้ว”..


    วันรุ่งขึ้น..ด้วยความที่เคยทำงานสายงานก่อสร้างมาก่อน ผมเลยรู้สึกเคอะเขินกับการที่ต้องนั่งโต๊ะทำงานบนตึกสูง เลยแวบออกมาเดินดูสายการประกอบรถซึ่งเป็นโรงงานอยู่ด้านหลังสำนักงานใหญ่ แหม....ใจก็ช่างตรงกับคุณพี่รองประธานฝ่ายผลิตซะเหลือเกิน..แกเดินมาเจอผม แกก็เรียกเข้าไปคุยด้วย “กฤษณ..คืออย่างนี้นะ..ผมอยากให้คุณลองคิดหาระบบอะไรสักอย่างมาจัดการเรื่องพฤติกรรมเสี่ยงของพนักงานหน่อย..ลองจัดให้มันออกมาดูเป็นรูปธรรมดูนะ” “ได้ครับพี่ เดี๋ยวผมจะไปจัดทำระบบมานำเสนอครับ” ผมรีบรับปาก ในใจก็คิด..หวานกรูล่ะ ทำมาก็หลายที่แล้ว งานจะยากง่ายแค่ไหนก็ผ่านมาเยอะแล้ว เรื่องทำระบบBBS แบบนี้สบายมาก


      ผมใช้เวลาไปนั่งขีดๆเขียนๆวาดโครงคร่าวๆ อยู่เกือบสัปดาห์ โดยในตอนแรกผมจับเอาฝ่ายต่างๆของโรงงานมาเป็นตัวตั้งก่อน โดยจำแนกตามระบบการทำงานของโรงงานที่มีอยู่ ซึ่งก็ได้แก่ โรงงานตัวถังรถ โรงงานพ่นสีรถ โรงงานประกอบรถ1 โรงงานประกอบรถ2 โรงงานเฟรมและยางรถ โรงตรวจสอบคุณภาพรถ ในเบื้องต้นจะเน้นในส่วนของโรงงานก่อน ส่วนสำนักงานใหญ่ค่อยว่ากันในเฟสถัดไป


      ส่วนลักษณะของการทำ BBS ที่ผมนำเสนอในตอนแรกนั้น ไม่ต่างจากวิธีการที่เคยทำเมื่อครั้งที่อยู่ต่างประเทศสักเท่าไหร่ ก็คือ ถ้ามีพนักงานคนหนึ่ง พบว่า เพื่อนคนใด มีการกระทำที่ไม่ปลอดภัย เช่น ไม่สวมหมวกนิรภัยเข้าไลน์ผลิต ไม่สวมถุงมือ ก็ทำการเตือนเพื่อนร่วมงาน แล้วบันทึกลงในแบบฟอร์มที่จัดไว้ให้ หลังจากนั้นให้นำส่งหัวหน้างาน หัวหน้างานแต่ละส่วนงานในโรงงานนั้นต้องนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของโรงงานนั้นๆ แล้วคัดเลือกผู้ชนะประจำเดือน โดยทางฝ่ายความปลอดภัยส่วนกลางจะเป็นผู้สนับสนุนของรางวัล


        ว่าแล้วก็นำโครงร่างทั้งหมดไปนำเสนอเลย แกดูอยู่พักนึง แล้วก็พูดขึ้นว่า “กฤษณ..ผมเข้าใจว่าคุณผ่านงานต่างประเทศมาเยอะ..แต่..นี่ประเทศไทย..วัฒนธรรมที่นี่มันยังเป็นแบบไทยๆอยู่..ขืนทำตามแบบของคุณ..ผมว่าเดี๋ยวมันต้องมีออกไปเตะปากกันข้างนอกบ้างล่ะ” ผมมองบนยืนคิดในใจ “แล้วจะให้ทำไงวะ” แกเหลือบมองผมที่กำลังยืนงงอยู่พักนึงก็เสนอไอเดียมา “เอาอย่างงี้แล้วกัน..ให้ไอ้คนที่โดนเตือนเป็นคนเขียนมาละกัน..คุณลองไปทำให้เป็นระบบดู” แกทิ้งท้ายก่อนที่ผมจะขอตัวออกมา
อืมม..พูดง่ายทำยากแฮะ ขนาดให้คนเตือนเขียนมายังไม่ยอมเขียนเลย..แล้วนี่คนโดนเตือนมันจะเขียนเหรอ..ผมคิดหลายตลบ....ผ่านไปอีกสามสี่วัน เอาวะ ต้องลอง..


      ในฝ่ายความปลอดภัยที่ผมดูแลอยู่นั้น มีหน่วยงานความปลอดภัยกลาง คือดูภาพรวมทั้งหมดโดยเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพ ซึ่งต้องประสานงานกับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างานที่ดูแลประจำโรงงานต่างๆ หรือเรียกพี่ๆเขาง่ายๆว่า Safety Zone ซึ่งพี่ๆเหล่านี้โดยตำแหน่งเป็นระดับ General Forman คือเป็นหัวหน้าใหญ่ของ Foreman และ Leader ของแต่ละโรงงานอีกที ก็ต้องถือว่าพี่ๆเค้ามีพาวเวอร์พอสมควร


      สิ่งแรกที่ทำตอนนั้นคือ ขอความช่วยเหลือพี่ Safety Zone ท่านหนึ่งที่ดูแลโรงเฟรมและยาง โดยเล่าคอนเซ็ปต์ทุกอย่างให้พี่แกฟัง เพื่อจะทดลองทำระบบเป็นโรงงานตัวอย่างนำร่อง พี่แกก็ช่วยเหลือดีมากครับ จัดเรียกประชุมระดับหัวหน้างานทั้งหมดของโรงงานมาเพื่อรับฟังสิ่งที่ผมนำเสนอ


      หลังจากได้ฟังมาสักพัก พี่ๆหัวหน้างานส่วนใหญ่บอกไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่กำลังจะทำ “ผู้จัดการคิดว่าใครเค้าจะบ้าเขียนวิจารณ์ตัวเองครับ” “ลูกน้องเขียนมาส่งหัวหน้า แล้วจะไม่โดนหัวหน้างานเล่นงานเหรอครับ” “แล้วถ้าหัวหน้างานไม่ลงโทษลูกน้อง หัวหน้างานจะไม่โดนเล่นงานเหรอครับ” “ใครช่างคิดครับ..ระบบนี้” “หางานให้ทำอีกแล้ว” ฯลฯ


      สรุปคือวันนั้นผมขอจบการประชุมแค่นั้นก่อน กลับมานั่งที่โต๊ะทบทวนต่อ คิดๆๆๆ นี่ปาไปครึ่งเดือนแล้ว ยังมองไม่เห็นอะไรเลย จะผ่านโปรไหมนี่...


      นั่งทบทวนไปถึงต้นตอแห่งความสำเร็จในการทำ BBS ที่ผ่านๆมา .เออ...เฮ้ย..เค้าต้องให้อำนาจให้สิทธิกับพนักงานก่อนนี่นา เช่นเมื่อครั้งทำงานที่บังคลาเทศ ด้านหลังของบัตรพนักงานทุกคน จะเป็น Stop work Authority card หมายถึงการให้อำนาจการหยุดงานที่เห็นว่าเป็นอันตรายและเตือนได้ของพนักงานและผู้รับเหมาทุกคนที่ทำงานร่วมกันโดย Country Manager หรือผู้มีอำนาจสูงสุดในองค์กรในประเทศนั้น


       แต่ถ้าทำแบบเดิมๆที่นี่คงไม่ได้ผล เลยเปลี่ยนชื่อกิจกรรมเป็น “เพื่อนเตือนเพื่อน” พร้อมปรับรูปแบบการทำกิจกรรมอีกนิดหน่อย ส่วนเรื่องของกฎด้านความปลอดภัยเค้ามีอยู่แล้วในรูปแบบ Safety card ก็นำเข้ามาผนวกรวมกัน
พอคิดได้มือก็ร่างโครงเลยครับ อันแรกเลยคือ Responsibility ของแต่ละคนที่เกี่ยวข้องเช่น


พนักงานผู้โดนเตือน – ต้องเปิดใจกว้าง รับฟัง ยอบรับในข้อผิดพลาดของตนเอง และมีหน้าที่ต้องเขียนรายงานมาส่งหัวหน้างานอย่างตรงไปตรงมา


พนักงานผู้เตือน – ต้องเตือนเพื่อนด้วยความปรารถนาดี จริงใจ ปราศจากอคติ หวังให้เพื่อนทำงานอย่างปลอดภัย ไม่บาดเจ็บจากการทำงาน


หัวหน้างาน – ต้องเปิดใจและไม่เอาผิดกับพนักงานที่เขียนรายงานมาส่ง คอยแนะนำพนักงานในการเขียนรายงานที่ถูกต้อง


ผู้จัดการโรงงาน – ต้องให้การส่งเสริม สนับสนุน ยกย่องชมเชยทั้งผู้ถูกเตือนและผู้เตือน รวมถึงเป็นประธานกรรมการตัดสินรายงานที่พนักงานเขียนมา


คณะกรรมการความปลอดภัยฯประจำโรงงาน – ร่วมพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะเลิศจากการเขียนรายงาน นำส่งข้อมูลทั้งหมดให้กับฝ่ายความปลอดภัยฯกลาง


ฝ่ายความปลอดภัยกลาง – ต้องรวบรวมข้อมูลจากทุกโรงงาน รายงานฝ่ายบริหารผ่านการประชุม คปอ.ใหญ่ประจำเดือน ในฐานะเลขานุการ ต้องสนับสนุน ส่งเสริม และให้ความเข้าใจในการทำกิจกรรมนี้


        เมื่อทำ Responsibility เสร็จ ก็ตามต่อด้วยขั้นตอนวิธีการทำโดยเริ่มจาก มีพนักงานที่เห็นเพื่อนพนักงานมีพฤติกรรมการทำงานไม่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการไม่สวมใส่อุปกรณ์ PPE ซ่อมเครื่องจักรในขณะที่เครื่องจักรทำงาน หรือสิ่งอื่นใดที่เป็นการละเมิดกฎความปลอดภัยของ Safety card ก็สามารถเตือนเพื่อนได้ทันที


      1.หลังจากถูกเตือนแล้ว พนักงานผู้ถูกเตือนก็เขียนรายงานมาส่งหัวหน้างาน โดยระบุรายละเอียด รวมถึงต้องใส่ชื่อผู้เตือนด้วย เพื่อเป็นประโยชน์ในเชิงสอบกลับ รวมถึงการตอบคำถามท้ายรายงานในแบบฟอร์มว่า “จะเกิดอะไรขึ้น หากเพื่อนไม่มาเตือนเรื่องนี้”


      2.หัวหน้างานทำการรวบรวมจำนวนใบเพื่อนเตือนเพื่อน ก่อนเข้าประชุม คปอ.ย่อยของแต่ละโรงงาน จากนั้น คปอ.ย่อยของโรงงานนั้นๆจะทำการคัดเลือกผู้ที่เขียนมาได้ยอดเยี่ยมแล้วนำส่งมาที่ฝ่ายความปลอดภัยกลางก่อนวันเข้าประชุมคณะกรรมการความปลอดภัยฯบริษัท 1 วัน


    3. ฝ่ายความปลอดภัยกลาง ทำการรวบรวมใบเพื่อนเตือนเพื่อนทุกโรงงาน บันทึกข้อมูลแล้วนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการความปลอดภัยฯของบริษัท เตรียมรางวัลและเกียรติบัตร


    4. เมื่อถึงวาระการประชุม ข้อมูลเกี่ยวกับ จำนวนใบเพื่อนเตือนเพื่อน และผู้ชนะในแต่ละโรงงานจะถูกนำเสนอขึ้น ท่านประธาน คปอ. (ท่านรองประธานบริษัท) เป็นผู้ขึ้นไปมอบเกียรติบัตรและรางวัล โดยแต่ละโรงงานจัดเตรียมตัวแทนขึ้นไปรับแทน เนื่องจาก ผู้ชนะบางท่านก็เข้ากะกลางคืนในช่วงเวลาที่มีการประชุม คปอ.พอดี รวมทั้งมีการมอบรางวัลใหญ่ให้กับโรงงานที่ให้ความร่วมมือดีเด่นด้วยโดยวัดจากจำนวนที่นำมาส่ง (จากความคิดและประสบการณ์ส่วนตัวของผม ในกรณีที่โรงงานไม่เคยจัดกิจกรรมลักษณะนี้มาก่อน และถ้าต้องการให้เกิดความยั่งยืน ควรมีทั้ง Quantity และ Quality ควบคู่กันไปครับ)


    5. ฝ่ายความปลอดภัยตามไปสัมภาษณ์ผู้ชนะ นำภาพและถ้อยคำสัมภาษณ์ผู้ชนะในแต่ละเดือนแปะที่บอร์ดนิทรรศการของแต่ละโรงงาน


      โดยคร่าวๆที่ทำก็จะประมาณนี้ พอเป็นรูปเป็นร่าง คราวนี้ผมก็ขอร้องให้พี่ Safety Zone แสนดีคนเดิม มาช่วยเรียกประชุมพี่ๆ Foreman โรงเฟรมและยาง รอบนี้ให้ความร่วมมือดีแม้จะมีเสียงบ่นๆมาบ้าง แต่ผมก็เข้าใจเพราะงานพวกเค้าค่อนข้างมาก แล้วเค้ายังต้องไปเรียกประชุม ทำความเข้าใจกับพนักงานในไลน์อีก แต่ก็..เอาเถอะ ผมให้สัญญากับทุกคนว่า เดี๋ยวสิ่งดีๆมันจะกลับมาหาทุกคนเอง ขอให้ช่วยนำร่องตรงนี้ก่อนซึ่งตอนนำร่องนี้จะยังไม่มีรางวัลให้


        ผ่านไปได้สัปดาห์กว่าๆ ครบเดือนพอดี จำได้ว่าได้มาประมาณ 8 ใบ!!!! ทางเจ้านายฝ่ายผมมากระซิบถามว่า เป็นไงบ้าง ผมก็บอกตอนนี้กำลังทดลองทำครับ แกก็ไม่ว่าอะไร ผมก็เข้าไปที่โรงเฟรมและยางบ่อยขึ้นในระหว่างนั้นก็มีน้องๆในไลน์ผลิตเดินมาทักทายบ้าง มาถามว่าจะได้รางวัลเป็นอะไรก็มี ผมบอกไว้ถ้าน้องชนะเดี๋ยวก็จะรู้


       เดือนที่สอง มาแล้วครับ 20 ใบ ผมเริ่มมั่นใจว่ามาถูกทางแล้ว คราวนี้จัดติว Foreman เลยครับ สอนการเป็นโค้ชที่ดีให้กับพวกเค้าในการเสริมสร้างวัฒนธรรมให้กับพนักงาน ซึ่งในระหว่างนั้นเอง คุณพี่รองประธานบริษัท เริ่มแยบๆทวงถามผมผ่านเจ้านายผมมาบ้างแล้ว


      พอปลายเดือนที่สาม 70 ใบ จากพนักงาน 400 คน เอาวะ ผมยิ่งมั่นใจมากขึ้น พอถึงเวลาที่มีการประชุม คณะกรรมการความปลอดภัยฯบริษัท ผมก็นำเสนอในที่ประชุมเลย ก็ต้องถือว่าเป็นความโชคดีที่ท่านรองประธาน(ประธาน คปอ.)ช่วยพูดเสริมให้ หลังจากนั้นกิจกรรมนี้ก็ถูกบรรจุเข้าไปในวาระหนึ่งของการประชุมคณะกรรมการความปลอดภัยฯบริษัท


     เดือนที่สี่ ซึ่งเป็นเดือนแรกของการทำกิจกรรมเพื่อนเตือนเพื่อน ผมก็เริ่มถ่ายโอนงานให้น้องๆในทีมไปทำ เมื่อมีการประชุมคณะกรรมการความปลอดภัยฯบริษัท แล้วเมื่อมาถึงวาระของกิจกรรมเพื่อนเตือนเพื่อน พบว่า บางโรงงานยังไม่ค่อยมีความร่วมมือเท่าที่ควร แต่สิ่งที่ทำผมรู้สึกประทับใจ ซาบซึ้งใจ จนจำติดตาได้ก็คือพอประชุมคณะกรรมการความปลอดภัยฯเสร็จ ประธาน คปอ.ให้ทุกคนที่ไม่ใช่ผู้จัดการโรงงานออกไปก่อน ผมเดินออกคนสุดท้ายแล้วแอบแวบหันไปมอง ภาพที่เห็นคือ ผู้จัดการโรงงานแต่ละท่านยืนหน้าจ๋อยๆคอยตอบคำถามท่านประธาน คปอ.ว่าทำไมโรงนั้นทำได้ ทำไมโรงนี้ทำไม่ได้ แล้วทำไมทำไม่ได้ โอ้โห...นี่แหล่ะครับ ความเป็น Leadership ในด้านความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมอะไรก็ตามที่เป็นด้านความปลอดภัย หากผู้บริหารระดับสูงให้ความสนใจนะ เชื่อเถอะครับว่าเป้าหมายความปลอดภัยอยู่ไม่ไกลเลย


    เย็นนั้น ผมกลายเป็นคนดังทันที ผู้จัดการหลายท่านโทรหาผม ขอปรึกษาวิธีการทำ ผมก็แนะนำทุกท่านด้วยความเต็มใจ หลังจากนั้นก็เริ่มมีสถิติที่ดีขึ้นในทุกๆโรงงาน พร้อมๆสถิติอุบัติเหตุประเภททรัพย์สินเสียหายที่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงของพนักงานก็ลดลงตามไปด้วย


    จากที่บ่นว่ามีงานเพิ่ม คราวนี้กลายเป็นการประชันระหว่างโรงงานและการเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้ผู้เตือนสามารถเตือนเพื่อนในพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้


     นี่เป็นแค่ประสบการณ์การทำระบบ BBS ในรูปแบบหนึ่ง เพราะวัตถุประสงค์จริงๆที่ต้องมีระบบนี้ก็คือ การไปลดพฤติกรรมเสี่ยงของพนักงาน แต่ขอฝากให้คิดอย่างนึงครับว่า BBS มันไม่มีรูปแบบตายตัว สามารถปรับใช้ได้ให้เหมาะสมกับกิจกรรมการทำงานและเครื่องมือในด้านความปลอดภัยต่างๆที่องค์กรมีอยู่แล้วครับ



ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ
 
Visitors: 568,709