การวิเคราะห์เพื่อควบคุมความสูญเสีย

การวิเคราะห์เพื่อควบคุมความสูญเสีย

ในฐานะผู้บริหาร วิศวกร หรือช่าง หากเราต้องการเข้าใจผลการปฏิบัติการด้านการเสริมสร้างความปลอดภัยในการทำงานของโรงงานแล้ว เรื่องแรกที่เราจะต้องรู้ก็คือ ปัจจุบันโรงงานมีมาตรการในการควบคุมป้องกันอุบัติเหตุอย่างไร จากนั้นจึงวิเคราะห์หาจุดอ่อนที่มีอยู่แล้วทำการบันทึกหรือเขียนรายงานเสนอแนะวิธีการแก้ไขจุดอ่อนนั้นต่อผู้บริหารระดับสูงเพื่อสั่งการต่อไป

จุดสำคัญต่าง ๆ ที่จะได้มาซึ่งข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์เพื่อควบคุมความสูญเสีย ได้แก่

 

การจัดองค์การบริหารของบริษัท (หรือโรงงาน)

1. นโยบายด้านความปลอดภัยของบริษัทได้มีการกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่

2. พิจารณาโครงสร้างขององค์การ และดูความสัมพันธ์ระหว่างสายปฏิบัติงาน และที่ปรึกษาเป็นอย่างไร

3. ผู้บริหารระดับสูงให้การยอมรับหรือให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยเพียงใด

– เขาให้ความร่วมมือในการปฏิบัติการเพียงใด

– เขาใช้หลักการบริหารช่วยเหลือสนับสนุนเพียงใด

4. ผู้บริหารระดับสูงได้กระจายความรับผิดชอบด้านความปลอดภัยเพียงใด และเป็นที่ยอมรับเพียงใดจาก

– ผู้บริหารการผลิตหรือผู้จัดการโรงงาน

–  หัวหน้าแผนกหรือหัวหน้าผู้ควบคุมการทำงาน

– คณะทำงานด้านความปลอดภัย (Safety Staff)

– คนงาน

5. บริษัทมีโครงสร้างด้านความปลอดภัยอย่างไร

– บริษัทมีคณะทำงานด้านความปลอดภัยหรือเจ้าหน้าที่ด้านนี้หรือไม่ ถ้ามี บริษัทได้กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบไว้อย่างชัดเจนหรือไม่เพียงใด เจ้าหน้าที่นี้ขึ้นกับหน่วยงานใด จะต้องรายงานต่อใคร

– บริษัทมีคณะกรรมการความปลอดภัย (Safety Committee) หรือไม่ คณะกรรมการความปลอดภัยประกอบด้วยใครบ้าง จากหน่วยงานใด หน้าที่ความรับผิดชอบได้กำหนดไว้ชัดเจนหรือไม่ คณะกรรมการมีความหมายเพียงใด

– ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการเสริมสร้างความปลอดภัยของคนงานมีเพียงใด

6. บริษัทได้เขียนวิธีการทำงานหรือออกกฎระเบียบในการทำงานไว้หรือไม่

– ความปลอดภัยในการทำงานเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบหรือวิธีการทำงานหรือไม่ถูกกำหนดไว้

 

หน้าที่และความรับผิดชอบต่อความปลอดภัย

1. ผู้บริหารได้มอบหมายให้ฝ่ายการบุคคลรับผิดชอบในการป้องกันอุบัติเหตุหรือไม่

2. วิธีการหรือเทคนิคอะไรบ้างที่ใช้เพื่อกำหนดความรับผิดชอบ

– ความรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้น แผนกที่เกิดอุบัติเหตุจะได้รับผลเสียหายอย่างไร เช่น เสียชื่อเสียง ได้รับสวัสดิการน้อยลง เงินโบนัสลดลง เป็นต้น

– ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ผู้บริหารติดตามควบคุม ผู้ควบคุมงานหรือหัวหน้างานได้อย่างไรว่า หัวหน้างานได้จัดประชุมหาทางแก้ไขป้องกันอุบัติเหตุ มีการตรวจตราดูแลการทำงาน มีการสอบสวนวิเคราะห์อุบัติเหตุ เป็นต้น

3. บริษัท (หรือโรงงาน) มีระบบความรับผิดชอบพิเศษอื่น ๆ หรือไม่

ระบบที่ใช้ในการระบุปัญหาหรือตรวจหาจุดอันตราย

1. การตรวจสอบสภาพการทำงานได้กระทำเป็นประจำหรือไม่

– ใครมีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบ

– มีการตรวจสอบบ่อยครั้งเพียงใด

– ทำการตรวจสอบอย่างไร

– ทำรายงานการตรวจสอบเสนอใคร

– มีการตรวจติดตามผลหรือไม่ ใครทำ

2. การตรวจสอบเป็นพิเศษได้กระทำหรือไม่

– การตรวจสอบความปลอดภัยเฉพาะด้านเช่น หม้อไอน้ำ ระบบไฟฟ้า ลิฟท์ เครน สารเคมี เป็นต้น

3. มีการใช้ระบบตรวจหาจุดอันตรายอื่น ๆ หรือไม่ เช่น

– การวิเคราะห์งานความปลอดภัย

– การวิเคราะห์หาจุดที่เกิดอุบัติเหตุอันตรายได้ง่าย

– การวิเคราะห์แบบ Fault-Tree Analysis

– การสุ่มตัวอย่างความปลอดภัย

4. โรงงานมีมาตรการและวิธีการอย่างไรสำหรับความปลอดภัยในการใช้เครื่องจักรใหม่ วัตถุดิบตัวใหม่ ขบวนการผลิตแบบใหม่ หรือการทำงานโดยวิธีการใหม่

5. ฝ่ายจัดซื้อมีส่วนรับผิดชอบต่อความปลอดภัยหรือไม่เมื่อสั่งซื้อเครื่องจักร วัตถุดิบ ฯลฯ

6. เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขข้อบกพร่องให้ถูกต้องใครเป็นผู้ริเริ่มและจะต้องทำอย่างไร มีการติดตามผลหรือไม่

7. บริเวณใดในโรงงานที่จำเป็นจะต้องให้คนงานใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล

– อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่จัดให้คนงานสวมใส่ในขณะปฏิบัติงาน มีความเหมาะสมหรือไม่ เช่น ชนิดของแว่นตานิรภัย ที่อุดหูลดเสียง ผ้าปิดจมูก เป็นต้น

– อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลมีการทำความสะอาด บำรุงรักษาหรือเปลี่ยนใหม่หรือไม่

– ใครมีหน้าที่ดูแลให้คนงานสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล

8. เมื่อต้องทำงานที่ไม่ปกติหรืองานพิเศษ โรงงานมีมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างไร

– โรงงานได้วางแผนงานและเครื่องไม้เครื่องมืออย่างเพียงพอหรือไม่

– ผู้รับผิดชอบได้พิจารณาด้านความปลอดภัยสำหรับงานพิเศษนั้นหรือไม่

 

การคัดเลือกและบรรจุคนเข้าทำงาน

1. คนงานที่สมัครงานได้กรอกข้อความในใบสมัครงานครบถ้วนหรือเพียงพอหรือไม่

– คำถามในใบสมัครงานตรงตามที่ต้องการหรือจำเป็นหรือไม่

2. ขั้นตอนในการคัดเลือกคนงานการสัมภาษณ์เป็นแบบใด

3. ประวัติการทำงานของคนงานและผู้อ้างอิงหรือค้ำประกัน จะตรวจสอบได้อย่างไร

4. ใครเป็นผู้ตัดสินใจขั้นตอนสุดท้ายในการจ้างงาน

5. ก่อนรับคนงานเข้าทำงาน ได้ให้คนงานตรวจร่างกายจากแพทย์หรือไม่

–   หากมีการตรวจร่างกายจากแพทย์ ได้ข้อมูลครบถ้วนตามต้องการหรือไม่

–  จะนำข้อมูลจากแพทย์ ที่ได้ไปใช้ประโยชน์อย่างไร

6. บริษัทได้ทำการทดสอบความสามารถ ความชำนาญ หรือพื้นความรู้หรือไม่

7. บริษัทได้ใช้การวิเคราะห์งานมาเป็นประโยชน์ต่อการบรรจุคนงานหรือการสับเปลี่ยนหน้าที่งานอย่างไร

 

การฝึกอบรมและการแนะนำงาน

1.      บริษัทมีหนังสือคู่มือหรือเอกสารแนะนำพนักงานใหม่เกี่ยวกับความปลอดภัยหรือไม่

– ใครเป็นผู้จัดทำขึ้น

– เนื้อหามีอะไรบ้าง

2. บริษัทมีวิธีการปกติอะไรบ้างในการฝึกอบรมคนงานใหม่สำหรับงานที่เขาจะทำ

– ใครเป็นผู้จัดการฝึกอบรม

– การฝึกอบรมทำอย่างไร

– มีการนำคู่มือการทำงานซึ่งเขียนจากการวิเคราะห์การทำงานไปใช้หรือไม่

– คู่มือการทำงานมีเนื้อหาด้านความปลอดภัยด้วยหรือไม่

3. เมื่อคนงานเก่าถูกสับเปลี่ยนย้ายงาน จะได้รับการฝึกอบรมอะไรบ้าง

4. การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ควบคุมงานหรือหัวหน้างานใช้วิธีการอะไรบ้าง

– หัวหน้างานใหม่จะได้รับการฝึกอบรมอย่างไร

–  บริษัทมีการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องสำหรับหัวหน้างานทั้งหมดหรือไม่

– ใครเป็นผู้จัดการฝึกอบรม

– การฝึกอบรมนี้มีเนื้อหาด้านความปลอดภัยด้วยหรือไม่

5. หลังจากคนงานได้รับการฝึกอบรมครบถ้วนแล้ว จะมีสถานภาพอย่างไร

–  คุณภาพของการแนะนำฝึกอบรมเป็นอย่างไร

– ในระยะการทดลองงาน จะได้ประโยชน์อะไรบ้าง

 

 

การจูงใจ

1. กิจกรรมที่มีเป้าหมายเพื่อการจูงใจ ปัจจุบันมีอะไรบ้าง เช่น

– การประชุมกลุ่ม การแจกจ่ายบทความการประกวดแข่งขัน การติดโปสเตอร์ ข่าวสารจากฝ่ายบริหาร การใช้สื่อจูงใจ และกิจกรรมอื่นสำหรับความปลอดภัยนอกจากการทำงาน

2. บริษัทได้จัดให้มีการรณรงค์เพื่อเรื่องหนึ่งเรื่องใดเป็นพิเศษหรือไม่

 

การบันทึกอุบัติเหตุและการวิเคราะห์

1. สถิติการบาดเจ็บอะไรบ้างที่มีการบันทึกเก็บไว้ และใครเป็นคนทำ

2. บริษัทได้ใช้วิธีมาตรฐานสำหรับการบันทึกสถิติเกี่ยวกับอัตราความถี่และอัตราความรุนแรงของการเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ (Frequency and Severity Rate)

3. ใครเป็นผู้พิจารณา และใช้สถิติเหล่านี้

4. การวิเคราะห์ประเภทใดจะใช้กับสถิติเหล่านี้

– การวิเคราะห์ทุกวัน

– การวิเคราะห์ทุกสัปดาห์

– การวิเคราะห์ทุกเดือน

– การวิเคราะห์ทุกปี

– การวิเคราะห์เป็นแผนก ๆ

– การวิเคราะห์ต้อนทุนหรือค่าใช้จ่าย

– อื่น ๆ

5. ขั้นตอนการสืบสวนอุบัติเหตุมีอะไรบ้าง

– สภาพการณ์และเงื่อนไขซึ่งก่อให้เกิดอุบัติเหตุอะไรบ้างที่จะได้รับการสอบสวนวิเคราะห์

– ใครเป็นผู้ทำการสอบสวน

– การสอบสวนทำเมื่อไร

– ผู้สอบสวนจะต้องเขียนรายงานเสนอแบบใด

– รายงานผลการสอบสวนจะถึงมือใคร

– จะใช้การติดตามผลแบบใด

– ใครเป็นผู้ทำการติดตามผล

 

โครงการด้านการแพทย์และสาธารณสุข

1. การปฐมพยาบาล (First aid) อะไรบ้างที่จัดเตรียมไว้สำหรับงานทุกกะ เช่น ตู้ยา เครื่องมือ เครื่องใช้ทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ด้านนี้ เป็นต้น

2. เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานการปฐมพยาบาลมีคุณสมบัติอะไร

3. มีคู่มือทางการแพทย์และการใช้ยาสำหรับการปฐมพยาบาลหรือไม่

4. ขั้นตอนขอใช้บริการปฐมพยาบาลยุ่งยากหรือไม่

5. เมื่อเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการปฐมพยาบาลไม่อยู่หรือลางาน บริษัทได้เตรียมการฝึกอบรมและบริการฉุกเฉินไว้หรือไม่

6. บริษัทได้วางแผนเพื่อรับมือเกี่ยวกับอุบัติเหตุร้ายแรงหรือไม่

7. บริษัทได้จัดเตรียมพาหนะรับส่งผู้บาดเจ็บไปยังโรงพยาบาลไว้หรือไม่

8. บริษัทได้ติดต่อหรือทำสัญญากับแพทย์ พยาบาล โรงพยาบาล รถพยาบาลสำหรับบริการคนงานของบริษัทหรือไม่ หรือมีทำเนียบไว้หรือไม่

9. บริษัทได้มีระบบการป้องกันล่วงหน้าสำหรับโรคหรือการบาดเจ็บจากการทำงานหรือไม่

10. บริษัทได้จัดให้มีการศึกษาอบรมเกี่ยวกับอนามัยในการประกอบอาชีพหรือไม่

บทความคัดลอกมาจาก  http://wp4.moneyboxz.com/?page_id=504

Visitors: 568,585