อันตรายจากนั่งร้าน

มักจะพบเสมอในหน่วยงานก่อสร้างเพราะมีการใช้งานตลอดเวลา ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุด กล่าวคือเมื่อเริ่มทำชั้นที่ 2

ขึ้นไปต้องทำนั่งร้านและค้ำยันโครงสร้างจากชั้นล่างสุดจนกระทั่งชั้นบนสุด

ถ้าโครงสร้างสูงมากอาจใช้นั่งร้านชนิดแขวนเข้าช่วยเพื่อให้การติดตั้งนั่งร้านจากข้างล่างไม่ต้องต่อชั้นไปสูงมากนัก
อันตรายที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงานในการทำงานได้แก่

1. การพังของนั่งร้าน เป็นสาเหตุที่ทำให้คนงานได้รับอันตรายเป็นอย่างมาก การพังของนั่งร้านมีสาเหตุมากมาย เช่น
1.1 รับน้ำหนักการบรรทุกมากเกินไป เป็นเพราะคนงานขึ้นไปมากเกินไป หรือกองวัสดุไว้มากเกินความจำเป็น
1.2 วัสดุที่นำมาใช้ไม่สมบูรณ์ เช่น ใช้ไม้เก่าจนเนื้อไม่ยุ่ย หรือเป็นเหล็กคด งอ เป็นสนิม
1.3 การประกอบหรือติดตั้งไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นนั่งร้านไม้การยึดด้วยตะปูน้อย หรือไม่ถูกวิธี หรือนั่งร้านเหล็กใช้ส่วนประกอบไม่ครบ
1.4 ฐานของนั่งร้านไม่แข็งแรง มั่นคง วางบนดินอ่อนบนเศษไม้ผุ หรือวัสดุที่ไม่แข็งแรง พอที่จะรับน้ำหนักได้
1.5 จากการทำงานไม่ถูกวิธี เช่น การเทพื้นคอนกรีตโดยใช้ปั๊มคอนกรีตจะไม่ไหลตามท่อและจะสุมเป็นกอง ถ้าคนงานไม่ขยับปลายท่อเพื่อเปลี่ยนที่กองของคอนกรีตใหม่ หรือเกิดจากคนงานโกยคอนกรีตไม่ทันก็จะมีคอนกรีตกองใหญ่ ซึ่งคอนกรีตจะมีน้ำหนักมาก (1 ลูกบาศก์เมตร หนักประมาณ 2,400 กิโลกรัม) ถ้าคิดรวมกับน้ำหนักของคนงานที่ขึ้นไปปฏิบัติงานแล้ว จะทำให้ค่ำยันบริเวณนั้นรับน้ำหนักเกินกว่าที่ออกแบบไว้ เป็นสาเหตุให้ค้ำยันพังทลาย

2. คนงานตกมาจากนั่งร้านไม่ใช่สาเหตุจากนั่งร้านพังเท่านั้นที่ทำให้คนงานตกลงมาแต่ยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีก ที่ทำให้คนงานตกลงมาจากหนังสือ เช่น
2.1 คนงานประมาทเลินเล่อ เดินสะดุดวัสดุบนนั่งร้านแล้วพลัดตกลงมา
2.2 คนงานทำงานเพลินทำให้ก้าวผิด เพราะไม่ทันสังเกตมองพื้นทางเดินบนนั่งร้าน เช่น ถอยหลังเพื่อให้ทำงานชนิดโดยไม่ได้ดูว่าตอนนี้ยืนอยู่ริมนั่งร้านแล้ว
2.3 อาจจะเป็นปัจจุบันทันด่วน เช่น เป็นลมหน้ามืดก็อาจจะทำให้ตกลงมาได้
2.4 เกิดจากการพัดของลมอย่างแรง เช่น ขณะทำงานเกิดฝนตกกะทันหัน และลมแรงพัดเอาคนตกลงมา กรณีเช่นนี้คนงานก่ออิฐโดนลมพัดทั้งคนทั้งกำแพงอิฐที่ยังก่อไม่เสร็จตกลงมาเสียชีวิต

3. การพังทลายของนั่งร้านตกลงมาโดนอาคารที่อยู่รอบข้างหรือบ้านพักคนงานที่สร้างอยู่ติดอาคารที่กำลังสร้างเหตุการณ์เช่นนี้พบในเขตชุมชนที่ต้องสร้างอาคารสูงในพื้นที่ที่จำกัด โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้

4. คนงานที่ได้รับอันตรายจากการเดินผ่านนั่งร้าน ในการทำงานของคนงานต้องเดินผ่านนั่งร้านที่อยู่รอบอาคาร เพื่อเข้าทำงานแล้วต้องเดินผ่านค้ำยันของชั้นที่เทคอนกรีตเสร็จใหม่ ๆ หรือขึ้นไปตั้งแต่นั่งร้านชั้นต่อไป ถ้าหากการติดตั้งนั่งร้านไม่เป็นระเบียบระเกะระกะ มีปลายของชิ้นส่วนนั่งร้านโผล่ยื่นออกมาคนงานอาจจะโดนทิ่มหรือเดินชนส่วนอันตรายเหล่านั้นทำให้ได้รับบาดเจ็บ

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการออกแบบนั่งร้าน
งานก่อสร้างโดยทั่วไปเน้นหนักเรื่องของการรับน้ำหนักที่ปลอดภัย โดยทั่วไปวิศวกรจะคำนึงถึงการออกแบบการรับน้ำหนักความปลอดภัย แต่เฉพาะตัวในอาคารเท่านั้น ส่วนประกอบในการใช้เครื่องมือเครื่องใช้ที่ส่วนประกอบ เพื่อเริ่มต้นในการทำงานสำหรับการให้เกิดเป็นอาคารขึ้นมาได้อยู่นอกเหนือการรับผิดชอบของวิศวกรโดยทั่วไป ดังนั้นส่วนประกอบเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ที่จะนำมาใช้เพื่อดำเนินการดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้เกิดอันตรายขึ้น ดังนั้นมาตรการของรัฐจึงได้กำหนดเป็นกฏหมาย เพื่อบังคับใช้กับนายจ้างโดยทั่วไปการใช้กฏหมายดังกล่าว ซึ่งออกประกาศบังคับใช้กับนายจ้างโดยทั่วไปการใช้กฏกระทรวงและประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ว่าด้วยเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน และยังมีกฏหมายอื่นๆ อีกหลายเรื่องซึ่งใช้เกี่ยวข้องกันอยู่

 


การรับน้ำหนัก
น้ำหนักไม่ว่าจะเป็นตัวอาคารหรือส่วนประกอบเครื่องมือเครื่องใช้เพื่อการก่อสร้างให้เกิดเป็นตัวอาคารขึ้น คำว่า น้ำหนัก จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องคิดถึงก่อนเพื่อความปลอดภัยในการดำเนินการทุกขั้นตอนเกี่ยวข้องกับวัสดุและพื้นดิน ซึ่งเป็นส่วนที่จะต้องรองรับน้ำหนักดังกล่าว สิ่งที่สำคัญพื้นดินหรือวัสดุที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการดำเนินงานนั้น จะต้องรับน้ำหนักให้ความปลอดภัยได้อย่างไร

คำว่า “น้ำหนัก” เป็นคำที่มีความหมายรวม ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วจะต้องมีความปลอดภัยโดยไม่มีการหักพัง ดังนั้นน้ำหนักเป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องทราบความหมายในเรื่องของ SAFETY FACTOR (น้ำหนักที่ปลอดภัย)

1. น้ำหนักบรรทุก คือน้ำหนักที่จะเพิ่มขึ้นกับสิ่งก่อสร้าง เช่น คน สิ่งของ หรือวัสดุอื่น ๆ ที่นำขึ้นไปอยู่บนพื้นบนอาคาร
2. น้ำหนักบรรทุกบนตัวอาคาร คือน้ำหนักที่วิศวกรจะกำหนดให้รับน้ำหนักได้ตามที่กำหนด ซึ่งเราเรียกว่า Live Load
3. น้ำหนักของตัวอาคาร คือน้ำหนักรวมโครงสร้างที่ประกอบเป็นส่วนของอาคารทั้งหมด ซึ่งเราเรียกว่า Dead Load
4. การรับน้ำหนักของพื้น หมายถึงน้ำหนักขอตัวอาคารที่กดลงพื้นดิน หมายถึง น้ำหนักของตัวอาคารที่กดลงพื้นดินที่พื้นดินสามารถรับน้ำหนักได้ที่ปลอดภัย ซึ่งเราเรียกว่า Bearing Capacity)

อัตราส่วนความปลอดภัย (SAFETY FACTOR) ของการออกแบบ
การรับน้ำหนัก สำหรับในเรื่องของการออกแบบก่อสร้าง

ก.พื้นดินเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบ ซึ่งให้ค่าความปลอดภัยที่กำหนดเป็น SAFETY FACTOR

ข.วัสดุในการก่อสร้างแต่ละชนิดที่ต้องกำหนด SAFETY FACTOR

ค. พื้นภูมิประเทศ (Location) พื้นที่ที่จะดำเนินการก่อสร้างซึ่งในแต่ละท้องถิ่นมีผลกระทบจากภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภูเขา ไฟ พายุ ซึ่งกำหนด SAFETY FACTOR ได้แตกต่างกัน

ดังนั้น สิ่งที่ควรทราบในหลักการใหม่ ๆ เช่น ความรู้เบื้องต้นของเจ้าหน้าที่ที่จะตรวจสอบความปลอดภัยในงานก่อสร้าง เช่น นั่งร้าน หรือส่วนประกอบอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับตัวอาคาร ซึ่งจะต้องเป็นพื้นฐานเบื้องต้น

นั่งร้านที่กฏหมายกำหนดไว้ในการสร้างนั่งร้าน แบ่งออกเป็น 2 ชนิด

1. นั่งร้านที่ออกแบบโดยวิศวกรโยธา ก.ว. ได้กำหนดเป็นกฎหมายไว้ โดยให้อำนาจแก่วิศวกรเป็นผู้ออกแบบนั่งร้าน เพื่อใช้ในการปฎิบัติงานเพื่อการก่อสร้างได้ อย่างน้อยวิศวกรผู้นั้นจะต้องมีรูปแบบนั่งร้าน และรายการคำนวณไว้ให้เจ้าพนักงานตรวจความปลอดภัยเพื่อตรวจสอบ

2. สำหรับนั่งร้านที่ไม่มีวิศวกรเป็นผู้ออกแบบ กฎหมายได้กำหนดให้ใช้วัสดุ ตลอดจนกรรมวิธีต่าง ๆ ให้นายจ้างปฎิบัติเพื่อการสร้างนั่งร้าน

3. สำหรับนั่งร้านที่จะใช้งานสูงเกินกว่า 21 เมตรขึ้นไปเป็นหน้าที่ของนายจ้างจะต้องดำเนินการจัดหาวิศวกรโยธา ซึ่ง ก.ว. กำหนดการออกแบบนั่งร้านให้อย่างน้อยจะต้องมีรูปแบบ และรายละเอียดคำนวณการรับน้ำหนักของนั่งร้าน และรายละเอียดประกอบแบบนั่งร้าน เพื่อให้นายจ้างพักงานตรวจสอบได้ เช่นเดียวกับข้อ 1.

รายละเอียดทั่วไปประกอบนั่งร้าน

ตามกฎหมาย วิศวกรหรือผู้ออกแบบจะต้องกำหนดรายละเอียดประกอบแบบนั่งร้านให้ครบถ้วน ตามกฎหมายนั่งร้านกำหนดไว้ กล่าวคือการรับน้ำหนักบันได ราวบันได ชานพัก สิ่งปิดล้อมนั่งร้าน ผ้ารองรับใต้นั่งร้านกันของตก ส่วนยึดโยงอื่นๆ เป็นต้น

การใช้ลูกจ้างทำงานบนนั่งร้านหรือใต้นั่งร้าน

อันตรายที่จะเกิดขึ้นกับลูกจ้าง คนงาน ที่ทำงานอยู่บนนั่งร้าน หรือใต้นั่งร้านในเรื่องวัสดุตกจากที่สูง เช่น ไม้ เศษไม้ หิน วัสดุ อื่นๆ ตลอดจนเครื่องมือช่าง หรือเครื่องมือกล อาจจะตกจากที่สูงกว่าที่ลูกจ้างทำงานอยู่ ทำให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายของลูกจ้าง ดังนั้น การปฎิบัติงานของลูกจ้างตลอดเวลา นายจ้างจะต้องจัดหมวกนิรภัย หรือรองเท้าที่ป้องกันอันตรายให้แก่ลูกจ้างไว้ เรียกว่า “อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล” ซึ่งกำหนดเป็นมาตฐานให้ใช้ตามลักษณะและประเภทของงานที่กฎหมายกำหนด

การซ่อมนั่งร้าน

นั่งร้านโดยทั่วไปเราจะพบเห็นว่า บางส่วนของเสานั่งร้านจะทรุดเอียง บางส่วนอาจจะแตกร้าว บางส่วนอาจจะขาดความมั่นคงเนื่องจากวัสดุ เช่น ปอผุ หรือเปื่อย เป็นต้น จึงเป็นต้นเหตุทำให้นั่งร้านขาดความแข็งแรง การซ่อมนั่งร้าน และการหยุดการใช้นั่งร้านจะต้องจัดให้มีการดำเนินการอย่างถูกต้อง พื้นฐานรับเสา นั่งร้านที่ถ่ายน้ำหนักลงพื้นดิน อาจทรุดต่ำลงถ้าเป็นเสานั่งร้านโลหะก็ควรที่จะใช้แม่แรงดีดยกขึ้น แล้วต่อเสานั่งร้านให้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของนั่งร้านให้ได้ระดับดังเดิม วัสดุอื่น ๆ เช่น ไม้ ปอ ที่แตกร้าว หรือผุ จะต้องคัดออกเปลี่ยนใหม่ให้มีความแข็งแรง เหมือนนั่งร้านใหม่ อุปกรณ์ต่าง ๆ ของนั่งร้านที่ชำรุด เช่น สิ่งปกปิดล้อมนั่งร้านพื้นรองรับของกันตกจากที่สูงใต้นั่งร้าน ราวทางเดินบนนั่งร้าน ฯลฯ ที่ชำรุดเสียหายไปจะต้องจัดเปลี่ยนใหม่โดยทันที การรักษาความสะอาดบนนั่งร้าน ตลอดจนการบรรทุกน้ำหนักบนนั่งร้านจะต้องดูแลรักษา เมื่อเลิกงานในแต่ละวันให้สะอาด น้ำหนักบรรทุกบนนั่งร้านจะต้องบรรทุกได้ไม่เกิน 150 กิโลกรัมต่อตารางเมตร และจะต้องไม่เป็นน้ำหนักเฉลี่ยซึ่งวางไว้เป็นช่วง

น้ำหนักจร

น้ำหนักจรที่เกี่ยวข้องกับนั่งร้าน หมายถึง การเกิดแรงจากพายุที่ทำให้วัสดุอาจพังทลายได้ หรืออันตรายจากภัยธรรมชาติ เช่น ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว ซึ่งจะต้องไม่ให้มีลูกจ้างคนงานอยู่ปฎิบัติงานในขณะนั้น

ข้อพิจารณาในการออกแบบนั่งร้าน

นั่งร้านแต่ละประเภทย่อมมีความเหมาะสมในการใช้งานเฉพาะอย่างตามสภาพการก่อสร้าง ผู้ดำเนินการก่อสร้างจะต้องเลือกประเภทให้เหมาะสมแต่ละงาน เช่น นั่งร้านเสาเรียงเดี่ยวนั่งร้านเสาเรียงคู่ นั่งร้านชนิดแขวน นั่งร้านสำหรับงานซ่อมแซม เป็นต้น

การพิจารณาออกแบบหรือเลือกใช้นั่งร้าน มีข้อควรพิจารณา คือ

1. สภาพสถานที่ และความเหมาะสมกับสถานที่

2. น้ำหนักบรรทุกที่ใช้งาน

3. ความสะดวกในการติดตั้ง และรื้อถอน

4. ความปลอดภัย

5. ความประหยัด ในปัจจุบันมีการประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องความปลอดภัยในการทำงาน ได้ออกประกาศกำหนดให้การออกแบบนั่งร้าน ทำโดยผู้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามที่คณะกรรมการควบคุมประกอบวิชาชีพวศวกรรม พ.ศ. 2512 กำหนด หากมิได้ออกแบบโดยผู้ที่ได้รับใบอนุญาตดังกล่าว ผู้ดำเนินการก่อสร้างจะต้องก่อสร้างนั่งร้านให้เป็นไปตามข้อกำหนดขั้นต่ำ ตามประกาศที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้ ในส่วนของนั่งร้านทั่วๆ ไปนั้น

มาตรฐานซึ่งคำนึงถึงความปลอดภัยที่จะใช้งานเป็นหลักนั่งร้านเหล่านั้นควรมีลักษณะ ดังนี้

- สำหรับนั่งร้านที่ทำด้วยไม้ การออกแบบเพื่อรับน้ำหนัก ควรออกแบบไว้สูงสุด 4 เท่าของน้ำหนักที่จะใช้งานจริง

- ควรใช้นั่งร้านไม่ว่าจะใช้งานเมื่อใดก็ตาม ให้ใช้อุปกรณ์ชิ้นส่วนชนิดเดียวกัน อย่าใช้ผสมผสานกัน

- ฐานของนั่งร้านจะต้องมั่นคง และวางอยู่ในลักษณะสมดุลอย่างใช้พวกเศษวัสดุต่างๆ เช่น เศษอิฐ เศษไม้ รองขานั่งร้าน

- นั่งร้านควรมีการโยงยึด ผูกติด หรือค้ำยันกับตัวอาคารเพื่อป้องกันการเอนล้ม

- นั่งร้านที่สูงกว่า 2.00 เมตร จะต้องมีราวกันตก

- นั่งร้านที่สร้างด้วยไม้จะต้องใช้ไม้ที่ไม่ผุเปื่อย ไม่มีรอยร้าว หรือชำรุดอื่น ๆ ที่จะทำให้ขาดความแข็งแรงทนทาน

- การทำนั่งร้านแบบเสาเรียงเดี่ยว กรณีที่ใช้ไม้ไผ่เป็นเสาควรตั้งให้ห่างกันไม่เกิน 1.50 เมตร ให้ใช้ไม้ไผ่ทำคานผูกติดกับเสาทุกต้น เมื่อตั้งเสาแล้วใช้ไม้ไผ่ทแยงมุมไม่เกิน 45 องศา กับแนวราบ ที่กล่าวมานี้เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งของแบบนั่งร้าน ซึ่งควรปฏิบัติกันในงานก่อสร้าง ซึ่งรายละเอียดอาจศึกษาได้จากการประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง(นั่งร้าน)นอกจากนี้จะต้องมีการบำรุง ดูแลรักษาสภาพการใช้งานของนั่งร้านอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยนั่งร้านทุกชนิดจะต้องมีการตรวจตราทุกอาทิตย์ หากมีพายุฝน แผ่นดินไหว หรือเหตุที่ทำให้นั่งร้านเสียสมดุลหรือคลาดเคลื่อนไป ต้องมีการตรวจสภาพเสมอ และที่สำคัญ คือพนักงานทุกคนจะต้องสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล เช่น หมวกนิรภัยบางครั้งอาจใช้เข็มขัดนิรภัยด้วย

(ขอบคุณ หนังสือ safety ความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง โดย คุณณัฐฐินีย์ ตลับนาค บรรณาธิการ)

Visitors: 569,026